ในเวลาไม่กี่สิบปีที่เราเกิดมา เราได้อยู่ในยุคของ Spider-Man เวอร์ชั่น Tobey Maguire, Andrew Garfield, และ Tom Holland ซึ่งแบ็คกราวนด์ของ Peter Parker ทั้งสามเวอร์ชั่นนี้ก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก รวมถึงเชื้อชาติสีผิว ที่เป็นเด็กหนุ่มผิวขาวหน้าตาดีกันทั้งสามเวอร์ชั่น
ตอนเห็นตัวอย่างหนังแอนิเมชั่น Spider-Man: Into the Spider-Verse ครั้งแรกนั้น ยังคิดเลยว่า “อีกแล้วหรอวะ” เพราะเวอร์ชั่น Tom Holland ก็เพิ่งออกมาไม่นาน และยังน่าจะทำภาคต่อขายได้อีกสักระยะเลยทีเดียวเมื่อเทียบกับฮีโร่รุ่นพี่คนอื่น ๆ ในทีม Avengers ด้วยกัน แต่พอได้ดูหนังฉบับเต็ม ต้องปรบมือให้กับ creativity ของ Marvel จริง ๆ ที่ทำ Spider-Man: Into the Spider-Verse ได้ออกมาแตกต่างจากเวอร์ชั่นอื่น ๆ ก่อนหน้านี้โดยสิ้นเชิง และจุดประกายการตีความใหม่เกี่ยวกับฮีโร่ได้เป็นอย่างดี
ศูนย์กลางของเรื่องนี้คือ เด็กชายผิวสี Miles Morales (Shameik Moore จาก Dope) ที่ถูกแมงมุมกัดขณะที่กำลังทำศิลปะกราฟิตี้อยู่ใต้ดินกับ Aaron (Mahershala Ali จาก Moonlight) อาของเขา และยังบังเอิญไปอยู่ในเหตุการณ์ในวันที่ Peter Parker (Chris Pine จาก Wonder Woman) ซึ่งเป็น Spider-Man ตัวจริงของชาวบรู๊คลิน ถูกฆ่าตายโดย Wilson Fisk หรือ Kingpin (Liev Schreiber จาก Wolverine)
ในคืนเดียวกันนั้นเอง Kingpin ได้เปิดประตูมิติควอนตัม นำพา “Spider-People” จากมิติอื่น ๆ มายังมิตินี้ด้วย ทำให้ Miles ได้ค้นพบว่า Spider-Man ไม่ได้มีเพียงคนเดียว แต่ยังมีผู้หญิงผมบลอนด์อย่าง Spider-Gwen (Hailee Steinfeld จาก Pitch Perfect), Peni Parker (Kimiko Glenn จาก Nerve) เด็กหญิงการ์ตูนญี่ปุ่นที่มาพร้อมกับหุ่นยนต์ตัวใหญ่, Spider-Man Noir (Nicolas Cage จาก National Treasure) สไปเดอร์แมนเวอร์ชั่นขาวดำจากยุคก่อน, Spider-Ham (John Mulaney จาก Saturday Night Live) ฮีโร่หมูพูดได้, รวมถึง Peter B. Parker (Jake Johnson จาก The Mummy) ในวัยใกล้กลางคน ที่กำลังเบื่อและหมดศรัทธากับการเป็นฮีโร่ตอนปลาย
Spider-Man: Into the Spider-Verse จึงไม่ใช่แตกต่างจากเวอร์ชั่นอื่น ๆ แค่เป็นแอนิเมชั่น (ที่ตั้งใจให้เหมือนคอมิคของฝรั่ง) เท่านั้น แต่ยังนำเสนอเรื่องความแตกต่างหลากหลาย (Diversity) ได้เป็นอย่างดี ใคร ๆ ก็สามารถเป็นฮีโร่ได้ ใคร ๆ ก็สามารถเป็น Spider-Man ได้ ไม่ว่าจะเด็ก หนุ่มสาว หรือผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะหญิงหรือชาย ไม่ว่าจะผิวขาวผิวดำ ไม่ว่าจะคนหรือสัตว์ ฯลฯ แต่สิ่งสำคัญคือ เราต้องค้นพบและเป็น Spider-Man หรือ Spider-People ในแบบฉบับของตัวเราเองให้ได้
สิ่งที่หนังแฝงอยู่คือ การรู้จักตัวเอง ความสามารถในการดึงศักยภาพของตัวเองออกมาใช้ให้มากที่สุด ศรัทธาในสิ่งที่เราทำ และก้าวข้ามผ่านปัญหาหรือความสูญเสียต่าง ๆ นั้นไปให้ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นมันจะเกิดขึ้นมาได้ หากได้รับแรงผลักดัน การสนับสนุน และกำลังใจจากสถาบันครอบครัวด้วย
อย่างที่เราจะเห็นว่า ในช่วงเริ่มเรื่อง Miles Morales ไม่ได้มีความสุขหรือความเชื่อมั่นในตัวเองมากนัก เพราะพ่อของเขาซึ่งเป็นตำรวจ (Brian Tyree Henry จาก Hotel Artemis) เคี่ยวเข็ญเขาในเรื่องวิชาการ ระเบียบวินัย และค่อนข้างแอนตี้ Spider-Man มันจึงทำให้เขาไม่ shine อย่างที่ควรจะเป็น จะว่าไป มันก็คือหนัง coming-of-age อีกเรื่องหนึ่ง แต่เล่าได้แบบไม่ยัดเยียด
สิ่งที่ดีงามคือ เราคิดว่าประเด็นทั้งหลายเหล่านั้นถูกนำเสนอได้น่ารัก บันเทิง สนุก และมีมุกตลกพีค ๆ สอดแทรกตลอดเรื่อง ฉากแอ็คชั่นก็ทำได้สนุกสะใจ อาจด้วยมันเป็นแอนิเมชั่น จึงไม่ต้องง้องบประมาณ CG เท่าไหร่ มันจึงใส่จัดเต็มได้อย่างไม่จำกัด (แต่เนื้อเรื่องบางจุดก็ดูไม่สมจริงอยู่บ้าง หรือคาดเดาได้อยู่บ้าง แต่นั่นก็พอมองข้ามไปได้) ทั้งเรื่องไม่มีช่วงที่น่าเบื่อหรือจำเจสักนาทีเดียว เพราะมันดูแล้วรู้สึกอิ่ม รู้สึกแฮปปี้ สรุปคือ เป็นหนังแฟมิลี่ที่ดูได้ทุกเพศทุกวัยและทุกเชื้อชาติศาสนา กอดคอกันไปดูได้เลย
คะแนนตามความชอบส่วนตัว 8.5/10
41 comments
Comments are closed.