ปีก่อน Batman v Superman: Dawn of Justice ได้รับผลตอบรับที่ไม่สู้ดีนัก แถมเข้าชิง Razzie Award ไปหลายสาขา แต่สิ่งหนึ่งที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของหนัง BvS ก็คือสาวสวยสุดฮอต Diana Prince หรือ Wonder Woman สุดเท่นั่นเอง
ปีนี้ค่ายฮีโร่ DC เขาจึงหมายมั่นปั้นมือส่งผู้กำกับหญิง Patty Jenkins มากำกับหนังฮีโร่หญิงเดี่ยวเรื่องแรก ด้วยหวังว่า Wonder Woman จะช่วยคืนฟอร์มให้กับค่ายได้
“I used to want to save the world, this beautiful place. But the closer you get, the more you see the great darkness within.”
เรื่องย่อ Wonder Woman
Wonder Woman เริ่มเล่าตั้งแต่เจ้าหญิง Diana (Gal Gadot จาก Batman v Superman: Dawn of Justice และ Fast & Furious) ยังเป็นเด็กอยู่ที่เกาะ Themyscira กับราชินี Hippolyta (Connie Nielsen จาก Gladiator) ผู้เป็นแม่ และนายพลหญิง Antiope (Robin Wright จาก Forrest Gump) ผู้เป็นน้า
วันหนึ่งสายลับอเมริกา Steve Trevor (Chris Pine จาก Star Trek และ Into the Woods) ขโมยสมุดบันทึกของ Dr. Maru หรือ Dr. Poison (Elena Anaya จาก The Infiltrator) กับนายพล Erich Ludendorff (Danny Huston จาก X-Men Origins: Wolverine) มา เขาจึงต้องหลบหนีทหารเยอรมันจนหลุดเข้ามายังเกาะ Themyscira ทำให้ Diana รู้ว่าข้างนอกกำลังเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 เธอจึงออกเดินทางกลับลอนดอนกับ Steve เพื่อหยุดสงครามนี้… หยุด Ares เทพเจ้าแห่งสงครามผู้ที่เธอเชื่อว่าเป็นต้นเหตุแห่งสงครามนี้
รีวิว วิเคราะห์ วิจารณ์ Wonder Woman
Wonder Woman คือฮีโร่หญิงที่โลกต้องการ ผู้หญิงคนนี้จัดว่าครบเครื่อง บู๊ได้ สวยได้ ตลกได้ นอกจากสวยสตรองและเท่ระเบิดระเบ้อโล่แตกแล้ว แต่ยังเป็นตัวแทนความดีงามและตัวแทนเฟมินิสต์ที่แท้ทรู
ตัวหนังเอง ถึงแม้จะยาวถึง 2 ชั่วโมงกับอีก 20 นาทีนิด ๆ แต่ก็สนุกเว่อร์ ความบันเทิงครบรส ฉากแอ็คชั่นนี่เรียกว่าบู๊วินาศสันตะโร ดู IMAX3D นี่คุ้มมาก (บอกเลยว่า เราแอบสะดุ้งกับ 3D ที่พุ่งในหลาย ๆ ฉากรบ เช่น ฉากยิงธนู สมจริงมาก ๆ) ไหนจะซีนโรแมนติก ดราม่า หรือคอเมดี้ ก็มาหมด ที่สำคัญนี่เป็นหนังฮีโร่ที่เล่นประเด็นสงครามและประเด็นเฟมินิสต์อย่างที่หนังฮีโร่เรื่องอื่น ๆ ไม่เคยทำถึงมาก่อน… wonderful จริง ๆ
Wonder Woman เป็นหนังฮีโร่ที่ผสมผสานระหว่าง Thor กับ Captain America กล่าวคือ เรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับเทพ ชาว Amazons ถูกสร้างโดยเทพ Zeus และตัวร้ายของเรื่องก็คือ Ares เทพเจ้าแห่งสงคราม แล้วเหตุการณ์ในเรื่องมันเกิดในช่วงสงครามโลก
ประเด็นเทพบางซีนออกจะลิเกไปบ้าง แต่เราก็ชอบที่เขาเล่นประเด็นเรื่องเล่าหรือตำนานปรัมปราเกี่ยวกับเทพเจ้า นางเอกเติบโตมากับเรื่องเล่าของแม่ ชีวิตของเธอก็เหมือนเติบโตมาในโลกเทพนิยาย ที่อยู่สวยงามอย่างกับสรวงสวรรค์ ทั้งเกาะมีแต่ผู้หญิงวัยสาว ไม่มีเด็ก ไม่มีแก่ และใช้ชีวิตอย่างสงบสุข สงครามดูไกลตัวและเป็นเรื่องที่ไม่มีอยู่จริง ส่วนพระเอกใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสงคราม การสู้รบเข่นฆ่า และไม่ค่อยเชื่อเรื่องเทพ
เราชอบการเติบโตของ Diana ในส่วนของมุมมองที่มีต่อสงคราม ในช่วงแรกเธอถวิลหาถึงสงคราม เธอมีสปิริตแรงกล้า ที่แสดงออกผ่านทางแววตาและการกระทำว่าเธออยากไปรบเพื่อปกป้องโลกและช่วยเหลือคนที่ไม่มีทางสู้ การได้ออกมาสู่โลกความเป็นจริง เธอค่อย ๆ ได้เห็น ได้สัมผัส และได้เรียนรู้ ว่าจริง ๆ แล้ว การทำสงครามมันไม่ได้ง่าย เธอไม่สามารถช่วยคนทุกคนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วยคนโดยที่เธอไม่ต้องฆ่าใคร
ซีนที่เราชอบคือ ซีนที่ Diana กำลังเดินทางไปแนวหน้า กับพระเอกและเดอะแก๊ง (ได้แก่ Charlie ชาวสก๊อต (Ewen Bremner จาก Trainspotting), ชาวอินเดียแดง (Eugene Brave Rock), และ Sameer (Saïd Taghmaoui จาก American Hustle)) ตอนนั้น Diana ยังคึกคัก แววตาเหมือนเด็กหญิงกำลังไปโรงเรียนครั้งแรก ในขณะที่ทหารคนอื่นที่กำลังไปพร้อมเธอ แววตาเต็มไปด้วยความซึมเศร้า เบื่อหน่าย และเลื่อนลอย อีกทั้งระหว่างทางเธอสวนกับเหล่าทหารผ่านศึก… ไม่มีใครกลับมาจากสงครามแล้วเหมือนเดิม… ไม่มี
อีกซีนสงครามที่เราชอบคือ ซีนที่ Diana ผ่าน “No Man’s Land” ซึ่งเป็นซีนรบจริงจังซีนแรกนับตั้งแต่ Diana ออกมาจากเกาะและมาสู่สมรภูมิที่แท้จริง และเป็นซีนที่เธอสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือพลิกเกมให้กับฝ่ายของพระเอก ซึ่งแฟน ๆ หนังแอ็คชั่นวางใจได้ เท่และมัน(ส์)มาก ใครชอบความวินาศสันตะโร ทำลายล้างทั้งแผ่นดิน Wonder Woman ก็จัดให้
จุดสำคัญที่ทำให้ Wonder Woman เป็นหนังฮีโร่ที่แตกต่างจากหนังฮีโร่เรื่องอื่น ๆ นี่คือหนังฮีโร่ “หญิงเดี่ยว” เรื่องแรก แม้แต่ Black Widow (ณ เวลานี้) ก็เทียบไม่ได้ เพราะ Black Widow (ยัง) เป็นแค่ฮีโร่หญิง “คนเดียว” ในแก๊งฮีโร่ชายล้วน และดูเหมือนตัวประกอบเสียมากกว่า เหมือน Marvel เอาเธอมาใส่ในทีม Avengers เพื่อให้อยู่ในกระแส Feminism แล้วสุดท้ายก็เหมือนไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไปกับตัวละครตัวนี้ดี ครั้นจะสร้างหนังแยกเดี่ยวให้เธอ ก็ไม่เห็นวี่แววว่าค่ายจะสร้างให้เธอสักที (ย่อหน้านี้ เขียนจากข้อมูล ณ ปี 2017)
แล้วด้วยการที่ Gal Gadot เคยเป็นทั้งนางงามและทหารอิสราเอล เธอจึงถ่ายทอดบทบาท Wonder Woman ออกมาได้สมจริง เธอมีทั้งความสวย และสรีระที่อาจจะไม่ได้เซ็กซี่สะบึ้มมากนัก แต่กล้ามเนื้อและท่วงท่าอันทะมัดทะแมงของเธอก็ชวนให้คนดูเชื่อได้โดยไม่ต้องพยายามเลยว่า เธอกำลังเป็นนักรบหญิงหรือฮีโร่หญิงจริง ๆ ไม่ว่าเธอจะมีชุดเกราะถือโล่จับดาบหรือไม่ก็ตาม
Diana เกิดและโตมาในสังคมที่ไม่จำเป็นต้องมีผู้ชาย พอพระเอกโผล่มาและพาเธอไป “The World of Men” ที่นั่น…ยุคนั้น… มันคือโลกของผู้ชายจริง ๆ ในห้องประชุมก็ต้องมีแต่ผู้ชาย ในสนามรบก็ต้องมีแต่ทหารกล้าชายชาตรี ผู้หญิงเป็นได้เต็มที่แค่เลขาฯ (อย่างในเรื่องพระเอกก็มีเลขาฯ คือ Etta (Lucy Davis)) และแม่บ้านแม่เรือนที่มาส่งผู้ชายที่สถานีรถไฟยามเขาไปออกศึกก็เท่านั้น
ผู้ชายอาจตั้งข้อกังขาในตัว Diana ว่าผู้หญิงสวยอย่างเธอมาทำอะไรในห้องประชุม ผู้หญิงสวยอย่างเธอจะไปสู้รบตบมือกับใครได้ ซึ่ง Diana ไม่เคยต่อปากต่อคำหรืออ้าปากขอ “สิทธิ” หรือ “ความเท่าเทียม” ให้กับผู้หญิง แทนที่เธอจะเอาแต่บอกผู้ชายว่า “ให้โอกาสฉันทำบ้างสิ ฉันก็ทำได้นะ ฉันก็ควรได้ลองนะ” เธอเลือกที่จะแสดงให้ผู้ชายทุกคนเห็นและยอมรับเธอด้วยการกระทำและความสามารถของเธอ
เธอเป็นคนยึดมั่นในอุดมการณ์ อยากรบ อยากช่วย และอยากทำทุกอย่างด้วยใจจริง ไม่ต้องรอให้ใครมาบอกหรือมาสอนว่าเธอต้องทำหรือไม่ทำอะไร ถ้าเธอจะทำ เธอจะทำเดี๋ยวนั้น ถ้าเธอจะไป เธอก็จะไปเดี๋ยวนี้ เธอเปรียบเปรยกับนิสัยของมนุษย์ ที่ต้องรอ “เวลา” หรือมี “นาฬิกา” มาคอยบอกว่า ตอนนั้นตอนนี้ควรทำอะไร เวลานี้ต้องตื่นนอน เวลานี้ต้องกินข้าว ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ในเรื่องนี้นางเอกจะเป็นช้างเท้าหน้าและเหมือนแบกหนังทั้งเรื่องไว้ แต่พระเอกก็เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ของเรื่อง และส่งเสริมกันและกันให้มีพัฒนาการ คือจะไม่เหมือนเคสของ Katniss กับ Gale หรือ Peeta ใน The Hunger Games ที่เด่นแต่ Katniss จนบางครั้งไม่จำเป็นต้องมี Gale หรือ Peeta ก็ได้
Wonder Woman เป็นหนังที่เราได้เรียนรู้ความโหดร้ายของสงคราม ด้านมืดของมนุษย์ และในขณะเดียวกัน ก็ได้รู้จักความรักอันสวยงาม ไปพร้อมกับตัวเอก ทั้งมนุษย์และเทพเหมือนกันตรงที่เราล้วนมีทั้งด้านขาวและดำในตัวเอง เราอาจถูกด้านดำครอบงำและผลักดันให้เราทำอะไรชั่วร้าย แต่มันจะต้องมีด้านขาว อันได้แก่ ความรัก ความหวัง หรือความดีงาม ที่จะผลักดันให้เราทำสิ่งดี ๆ ที่เปลี่ยนแปลงโลกได้
Steve Trevor คือตัวแทนแห่งความรักและความเสียสละของประเทศชาติ และแน่นอน…ของ Diana เองด้วย Steve Trevor คือกุญแจสำคัญ คือจุดเปลี่ยน คือแรงผลักดันในทุก ๆ อย่างของ Diana ทั้งสองเกื้อต่อกัน ต่างรับผิดชอบหน้าที่ของแต่ละฝ่ายเท่าที่ตัวเองจะทำได้ ดังนั้นหากขาดใครสักคนไป ภารกิจนี้ไม่อาจสำเร็จได้
ดู Wonder Woman จบแล้ว ก็ถึงกับก้มลงกราบแม่ ขอบคุณ Gal Gadot ที่เป็น Role Model มิติใหม่ของฮีโร่หญิง 2017 และขอบคุณ Patty Jenkins ที่กำกับหนังฮีโร่หญิงในมุมมองที่ผู้กำกับชายคนอื่นยังไม่เคยถ่ายทอด
คะแนนตามความชอบส่วนตัว 9/10
ป.ล. หนังจบแล้วลุกได้เลย no end credit ไม่ต้อง wait for it นะจ๊ะ
49 comments
Comments are closed.