หลังจากผู้กำกับหญิง Patty Jenkins ได้นำพาหนังฮีโร่หญิงเดี่ยว Wonder Woman กอบกู้หน้าตาของค่าย DC มาแล้วเมื่อกลางปี 2017 เธอก็ได้กลับมาทำภาคต่อในชื่อ Wonder Woman 1984
WW84 เซตไทม์ไลน์อยู่ที่ปี 1984 ตามชื่อเรื่อง ซึ่งห่างจากไทม์ไลน์ของภาคแรก ซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยปี 1984 ยังอยู่ในช่วง Cold War อีกทั้งมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย และหลาย ๆ อย่างก็มีความเชื่อมโยงหรือสร้างผลผลิตให้กับโลกยุคปัจจุบันของพวกเรา (ไม่แน่ใจว่า มีนัยยะแอบแฝงถึง 1984 นิยายชื่อดังของ George Orwell ด้วยหรือไม่)
สิ่งหนึ่งที่เราได้ทราบจากภาคแรกมาแล้วก็คือ Diana Prince (Gal Gadot จาก Fast & Furious) เป็นลูกเทพ Zeus เธอจึงไม่แก่หรือโรยราลงเลยแม้แต่น้อยแม้ว่าวันเวลาจะล่วงเลยผ่านมาจากภาคแรกแล้วเกือบ 70 ปี เธอใช้พลังของเธอช่วยเหลือผู้คนในชุมชนและปราบปรามอาชญากรรมโดยไม่เปิดเผยตัว เธอปรับตัวเข้ากับโลกใหม่ได้เป็นอย่างดี (ส่วนหนึ่งอาจเพราะ beauty privillage ของเธอที่ทำให้อะไร ๆ มันง่ายขึ้นด้วย) แต่ไม่มีวันไหนที่เธอไม่คิดถึง Steve Trevor (Chris Pine จาก Star Trek) รักเก่าและรักแรก ผู้เป็นส่วนหนึ่งของตัวตนของเธอเสมอมา
Diana ทำงานในพิพิธภัณฑ์ และได้พบกับเพื่อนร่วมงานคนใหม่ Dr. Barbara Ann Minerva (Kristen Wiig จาก Bridesmaids) ที่ใฝ่ฝันอยากมีตัวตนและเป็นคนพิเศษอย่าง Diana ก่อนที่ความต้องการนั้นจะผลักดัน และเปลี่ยนเธอให้กลายเป็น Cheetah หรือสัตว์ที่อยู่ห่วงโซ่อาหารสูงสุดในภายหลังเพราะนักธุรกิจน้ำมันผู้โลภมากและขายฝันอย่าง Maxwell Lord (Pedro Pascal จาก. Game of Thrones)
“No true hero is born from lies,”
WW84 เป็นหนังฮีโร่ที่ไม่ได้เน้นขายฉากแอ็คชั่นตู้มต้าม แต่ฮีโร่มีสตอรี่และมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น ทุกตัวละครหลักล้วนมีปัญหาและมีความปรารถนาอันแรงกล้าของตัวเอง โดยเฉพาะในด้านที่เปราะบางหรือด้านความรักของ Wonder Woman จนพูดได้ว่านี่เป็นหนังรักของฮีโร่ ไปจนถึงปมหรือมิติของ antagonists (ขอเลี่ยงที่จะใช้คำว่า “ตัวร้าย” หรือ “Villians”) ทั้ง Barbara ผู้รู้สึกด้อยกว่าคนอื่นเพราะมักถูกเมินและไม่ได้รับการจดจำ และ Max Lord ที่มีปมปูมหลังครอบครัว ถูกกดขี่และ bullied มาแต่เด็ก จนกระหายความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ พลังอำนาจ และความร่ำรวย
อย่างไรก็ดี หนังชี้ให้เห็นว่า คนเราไม่สามารถมีพร้อมได้ทุกอย่าง การได้มาซึ่งความฝันหรือความต้องการนั้น ๆ ล้วนมีราคาที่ต้องจ่ายหรือต้องแลกกับอะไรบางอย่างเสมอ พูดง่าย ๆ ก็คือ ไม่มีอะไรได้มาฟรี ๆ และยิ่งความฝัน/ความต้องการนั้นยิ่งใหญ่แค่ไหน มันก็ยิ่งต้องแลกกับสิ่งที่ราคาแพงมากขึ้นเท่านั้น เช่น ถ้าคุณต้องการเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จทั้งเงินทองและอำนาจ คุณอาจต้องแลกกับเวลาที่คุณจะมีให้กับครอบครัวหรือโอกาสที่จะได้เป็นพ่อแม่ที่ดีของลูก ๆ ของคุณ
Max Lord เป็นเสมือนตัวแทนของ Capitalism และบางคนก็เปรียบเทียบเขากับ Donald Trump ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกา โดยในยุค 1980s ที่เทคโนโลยีการสื่อสารหรืออินเทอร์เน็ตยังไม่ก้าวไกลเท่าทุกวันนี้ สื่อที่ทันสมัยและมีอิทธิพลที่สุด ณ เวลานั้นน่าจะเป็นโทรทัศน์ ในช่วงนั้น propaganda ก็มีบทบาทมาก ไม่ว่าจะเชิงการเมืองหรือเชิง commercial แล้วตัวละคร Max Lord ก็ใช้การบรอดแคสต์ทางนี้นี่แหละเป็นช่องทางในการโฆษณาชวนเชื่อ
ถ้าจะว่ากันตามจริง เขาไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น เขาไม่ได้ตั้งใจโกง แต่เขาอาจใช้วิธีที่ไม่ถูกต้องหรือไม่รอบคอบนักในการระดมเงินทุน คล้ายกับวลีในซีรีส์ Start-Up ที่เพิ่งลาจอ Netflix ไปไม่นานนี้ที่กล่าวว่า “ถ้าคุณทำสำเร็จ คุณจะได้เป็น CEO แต่ถ้าคุณล้มเหลว คุณก็จะเป็นแค่นักต้มตุ๋น”
“Life is good. But it can be better. And why shouldn’t it be? All you need is to want it. Think about finally having everything you always wanted.”
ธีมสำคัญที่สุดที่หนังเน้นย้ำเสมอก็คือ ความสำคัญของความจริงและการยอมรับความจริง ซึ่งชัดเจนตั้งแต่ฉากเปิดเรื่องที่แม่และน้าของ Diana สอนเธอครั้งเธอยังเป็นเด็กว่า ถ้าเราต้องโกง โกหก หรือใช้ทางลัดเพื่อได้สิ่งสิ่งหนึ่งมา มันหมายความว่า สิ่งสิ่งนั้นมันไม่ใช่ของจริง และเราก็ยังไม่คู่ควรกับมัน นอกจากนี้ Diana ยังต้องพยายาม let it go หรือ. move on ให้ได้ว่า อะไรคือความจริง และเรียนรู้ที่จะเข้าใจว่า ความสุขไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่กับคนคนหนึ่งหรือสิ่งสิ่งหนึ่งเสมอไป ถึงแม้ว่าเราจะไม่มีเขาหรือสิ่งสิ่งนั้นแล้ว ก็ไม่ได้แปลว่ามันหายไปไหน และไม่ได้แปลว่า โลกใบนี้จะไม่เหลือใครหรืออะไรที่จะเป็นความสุขความสวยงามให้กับชีวิตของเธอได้อีกแล้ว
ประเด็นหญิงแกร่งหรือ feminism อาจจะดูอ่อนลงเมื่อเทียบกับภาคแรก เพราะ WW84 ไปเน้นย้ำประเด็นอื่นมากขึ้นแทนตามที่เล่ามาข้างต้น แต่ Patty Jenkins ก็ไม่ได้ทิ้งรากเหง้าของ Wonder Woman ที่ชาวโลกชื่นชม เธอยังมีประเด็น sexual harassment ที่ผู้หญิงประสบพบเจอถึงแม้ผู้หญิงคนนั้นจะไม่ได้แต่งตัวเซ็กซี่หวือหวา และเสริมสร้างความเข้าใจว่า feminist ไม่จำเป็นต้องเป็นหญิงแกร่งเสมอไป ผู้หญิงก็เป็นคนคนหนึ่ง มีความรู้สึก อ่อนไหว และอ่อนแอได้ในบางเวลา (ฮีโร่ก็เช่นกัน)
การกลับมาของ Chris Pine ในบทของ Steve Trevor ที่เราต่างเข้าใจกันว่า เขาจากไปแล้วเมื่อ 70 ปีก่อน เขาก็กลับมาอย่างมีเหตุมีผล ไม่ใช่ว่าหนังเขาอยากให้มี Steve Trevor ก็เลยต้องมี Steve Trevor หรือว่าเพราะหนังเขาอยากขาย Chris Pine ก็เลยต้องมี Chris Pine แต่ทั้งนี้เราพูดลงลึกมากไม่ได้ว่าเขากลับมาอย่างไร เพราะมันจะเป็นการสปอยล์จุดสำคัญของหนังไปหน่อย
เราบอกได้แค่ว่า เรายอมรับเหตุผลการกลับมาของ Steve Trevor นี้ได้มากกว่าการกลับมาของตัวละครบางตัวในแฟรนไชส์ Fast & Furious แต่อาจจะเสียดายเล็กน้อยตรงที่พระเอกเหมือนลูกมือของนางเอกมากไปหน่อย คือเป็นบทซัพพอร์ตที่น้อยกว่านี้อีกนิดนึงก็จะกลายเป็นแค่บทสมทบแล้วก็ว่าได้ และหนังไปใช้เวลากับการเล่นประเด็น “บ้านนอกเข้ากรุง” ของพระเอกเยอะไปหน่อย ซึ่งบางครั้งมันดูน่าเบื่อมากกว่าน่ารัก เข้าใจว่าต้องการสลับกับภาคแรกที่นางเอกยังเป็นเด็กน้อยใสซื่อที่เดินทางมายังโลกมนุษย์ครั้งแรก แต่บางทีแนว comedy อาจไม่ใช่ทางของผู้กำกับก็เป็นได้
และถึงแม้ฉากแอ็คชั่นจะไม่ได้เยอะ แต่ประสบการณ์การดูในโรง IMAX ก็ยังเป็นสิ่งที่คุ้มค่า เพราะนอกจากจะได้เห็นความสวยของ Gal Gadot และแฟชั่นเสื้อผ้าสวย ๆ ของเธออย่างเต็มตาแล้ว ยังได้เต็มอิ่มกับงาน score/music ของเสด็จพ่อ Hans Zimmer อีกด้วย (ผู้เข้าชิงออสการ์สาขา Best Music จาก Dunkirk, Interstellar, Inception, ฯลฯ)
โดยสรุป เราชอบคนละแบบกับภาคแรก แค่รู้สึกว่าภาคแรกกลมกล่อมกว่านิดหน่อย แต่ก็ยังเป็นหนังรักของฮีโร่/เป็นหนังฮีโร่ที่ดูแล้วอิ่มใจ เหมือนได้เรียนรู้ที่จะเผชิญหน้ากับความจริง มองโลกด้านที่สวยงาม และ move on ไปพร้อม ๆ กับ Diana ถึงแม้ปีนี้จะเป็นปีที่หนักหนาสำหรับผู้คนทั่วโลก แต่เราก็ขอบคุณ DC ที่ยอมปล่อย WW84 เข้าฉายโรงเพื่อมอบความสุขส่งท้ายปีให้กับพวกเรา…It really made my day.
คะแนนตามความชอบส่วนตัวภาคนี้ 8.5/10
ป.ล. มี mid-credit 1 ฉาก แฟน ๆ DC หรือ แฟน ๆ Wonder Woman ควรรอชมค่ะ รอไม่นาน
Nothing good is born from lies. And greatness is not what you think.
1 comment
Comments are closed.