คอหนังหลายคนอาจจะคาดหวังว่า หนัง Courtroom Drama ที่ชนะรางวัลปาล์มทองคำ (Palme d’Or) จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ (Cannes Film Festival) มาแล้วอย่าง Anatomy of a Fall จะได้เข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมในปีนี้ด้วย แต่ในความเป็นจริง ฝรั่งเศสกลับเลือกส่งหนังรักสไตล์ foodie อย่าง The Taste of Things เข้าชิงสาขาดังกล่าวแทน
การตัดสินใจนี้อาจเป็นที่ยอมรับได้เมื่อพิจารณาถึงเหตุผลที่ว่า Anatomy of a Fall พูดภาษาฝรั่งเศสแค่ประมาณ 50% เพราะนักแสดงนำอย่าง Sandra Hüller เป็นคนเยอรมันที่มาอยู่ฝรั่งเศสและใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารเป็นหลัก หนังจึงไม่ได้ represent ความเป็นฝรั่งเศสได้เท่ากับ The Taste of Things (Original title คือ La Passion de Dodin Bouffant แปลว่า The Passion of Dodin Bouffant) ที่พูดภาษาฝรั่งเศส 100% และ represent อาหารหรือวัฒนธรรมฝรั่งเศสอย่างจัดเต็ม นอกจากนี้ Anatomy of a Fall ยังมี potential ที่จะเข้าชิงออสการ์สาขาใหญ่สาขาอื่น ๆ เช่นเดียวกับ Parasite ของเกาหลี เช่น สาขา Best Picture หรือ Best Actress ดังนั้น พอเราเข้าใจเหตุผลข้างต้น เราก็สามารถเปิดใจให้กับ The Taste of Things ได้อย่างแท้จริง
The Taste of Things ดัดแปลงจากนิยายฝรั่งเศสชื่อดัง The Passionate Epicure (1920) ของ Marcel Rouff บอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างนักชิมอาหารชื่อดัง Dodin Bouffant เจ้าของฉายานโปเลี่ยนแห่งศาสตร์กระยาหาร (Benoît Magimel) และ Eugénie (Juliette Binoche นักแสดงออสการ์จาก The English Patient) แม่ครัวคู่ใจกว่าครึ่งชีวิตของเขา ณ พื้นที่ชนบทแห่งหนึ่งของฝรั่งเศสในยุคศตวรรษที่ 19 โดยตัวละคร Dodin ได้รับแรงบันดาลใจจาก Jean Anthelme Brillat-Savarin นักชิมอาหารชื่อดังในยุคก่อนนั้นของฝรั่งเศส
“อาหารคือสื่อกลางของความรัก” เป็นธีมสำคัญของหนัง และเป็นธีมที่เป็นสากลมาหลายศตวรรษ ซึ่งเราเห็นด้วยอย่างยิ่งที่ตัวละครพูดว่า “การค้นพบอาหารนำไปสู่ความสุขของมวลมนุษยชาติมากกว่าการค้นพบดวงดาว” และ “ความสามารถในการรับรู้รสอาหารขึ้นอยู่กับ cultural experience ของบุคคล” คนครัวที่ใช้ใจและแพสชั่นในการทำอาหาร อาหารคือเครื่องมือที่เขาใช้สื่อสารและถ่ายทอดความรักความเอาใจใส่ไปยังผู้รับประทาน อาหารคือสัญลักษณ์ของการแบ่งปัน การใช้เวลาร่วมกัน และการสานสร้างความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะกับเพื่อนสนิทมิตรสหาย คนรัก คู่ค้าทางธุรกิจ ฯลฯ
สิ่งที่เราชอบเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้คือ less is more หนังแทบไม่ต้องบิลด์เราด้วย score หรือเสียงเพลงประกอบ และหนังก็ไม่ได้มีไดอะล็อกเยอะแยะมากมาย แต่แค่การเล่าเรื่องด้วยภาพก็แทบจะเปิดโสตประสาททั้งห้าของเราได้แล้ว ทั้งการถ่ายภาพ องค์ประกอบศิลป์ในฉาก และการแสดงทางอวัจนภาษาของตัวละคร โดยเฉพาะการสื่อสารผ่านซีนอาหารต่าง ๆ ล้วนบอกเล่าเรื่องราว ความรู้สึก และอารมณ์ขันของพวกเขานับร้อยนับพันคำในตัวมันเองอย่างงดงาม
The Taste of Things ใช้เวลาเกือบส่วนใหญ่ไปกับฉากการเตรียมและทำอาหารในครัว เช่น ฉากเปิดเรื่องก็ทำอาหารในครัวไปแล้วกว่าครึ่งชั่วโมง แต่ถึงกระนั้น มันก็ไม่ใช่หนังที่เน้น soft power ที่ขายเมนูอาหารฝรั่งเศส หรือเชิดชูอาหารและไวน์เท่านั้น (ถึงแม้มันจะน่ากิน ชวนน้ำลายสอ กลิ่นหอมทะลุจอมากแค่ไหน และทำให้เราอยากกินเนื้อตุ๋น pot-au-feu หลังดูหนังจบทันทีก็ตาม) แต่หนังเน้นถึงแพสชั่น ความรัก ความเอาใจใส่ ความทุ่มเท และความอดทนในแต่ละขั้นตอนของการทำอาหาร ซึ่งอาจเปรียบเสมือนกับความรัก-ความสัมพันธ์ของมนุษย์เรานี่แหละ
นอกจากนี้ หนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึง “สามเหลี่ยมมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchy of Needs)” ที่เราเคยเรียน อันกล่าวว่า มนุษย์เราล้วนมีความต้องการพื้นฐาน 5 สิ่ง ได้แก่ ความต้องการทางกายภาพ (physiological), ความมั่นคงปลอดภัย (security), มิตรภาพและความรัก (friendship and love), ความเคารพนับถือ (esteem), และความสมบูรณ์ของชีวิตตามอุดมคติของแต่ละคน (self-actualization) ซึ่งอย่างหลังนี้ถือเป็นขั้นสูงสุดของพีระมิด เพื่อที่จะเข้าถึงขั้นนี้ได้ เราจะต้องได้รับการตอบสนองความต้องการพื้นฐาน 4 อย่างแรกของพีระมิดมาอย่างดีแล้วก่อน
The Taste of Things ปูพื้นฐานของเรื่องราวที่ความต้องการด้าน physiological อย่าง อาหารและน้ำ เชื่อมโยงไปยังด้าน security ที่เราจะเห็นได้ว่า Dodin มีความมั่นคงทางการเงิน สุขภาพ ชีวิต ชื่อเสียง รวมถึงอารมณ์ (อย่างน้อยก็จนกว่า Eugénie จะล้มป่วย) จนไปถึง friendship ของเขากับเพื่อน ๆ นักชิมทั้งห้า (ชอบฉากคลุมผ้ากินออโตลองร่วมกันมาก) รวมถึงความรักของเขากับ Eugénie ที่อยู่ร่วมชายคา ทำงานในครัว และแชร์แพสชั่นเกี่ยวกับอาหารด้วยกันมากว่า 20 ปี ถึงแม้เขากับ Eugénie จะไม่ได้แต่งงานกัน แต่พวกเขาก็ให้ความเคารพนับถือซึ่งกันและกัน เป็น Healthy Relationship ยิ่งกว่าคู่แต่งงานคู่ไหน ๆ (ซึ่งการแต่งงานก็ไม่ได้อยู่ในสามเหลี่ยมมาสโลว์มาแต่แรกแล้วด้วยซ้ำ และเราก็เห็นด้วยอย่างยิ่งว่า “บางทีการแต่งงานก็เหมือนการกินของหวานเป็นสิ่งแรกในมื้อเย็น“) และสุดท้ายแล้ว Dodin ก็สามารถไปถึงความต้องการชั้นบนสุดของยอดพีระมิดนี้ได้ในที่สุด
สำหรับเรา The Taste of Things ก็มีคุณค่าสมศักดิ์ศรีหนังเข้าชิงออสการ์ของฝรั่งเศสจริง ๆ แต่คนดูหนังคนอื่นจะเห็นด้วยหรือไม่นั้น ก็คงละท้ายคล้ายการชิมอาหาร ก็คือสุดแล้วแต่ cultural and cinematic experience ส่วนบุคคล