แพสชั่นเป็นได้ทั้งพรและคำสาป ขึ้นอยู่กับการรู้จักและควบคุมตัวเอง ถ้าเราไม่รู้จักควบคุมหรือบาลานซ์แพสชั่น วันนึงเราอาจจะตกเป็นทาสของผลประโยชน์หรือความต้องการการยอมรับจากผู้อื่น หมดไฟ รู้สึกผิด สูญเสียความสุข ฯลฯ โดยหนังสือ “The Passion Paradox: ฉันหมดแพสชั่นหรือแค่ยังหามันไม่เจอ” เขาแนะนำวิธีพัฒนาและรักษาแพสชั่นอย่างยั่งยืน ซึ่งขวัญจะสรุปเป็น 6 ข้อหลัก ๆ ในบล็อกนี้
💡 Book Title - The Passion Paradox: ฉันหมด Passion หรือแค่ยังหามันไม่เจอ - Author - Brad Stulberg & Steve Magness 📌 พิกัดหนังสือ (แปลไทย) - https://s.shopee.co.th/5fWTkVxFsT
1. Understand Yourself First
การเข้าใจตัวเองเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของแพสชั่นที่ยั่งยืน เราควรตระหนักถึง core values และเหตุผลที่แท้จริงในการทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้แพสชั่นสอดคล้องกับตัวตน ทั้งนี้การมองสิ่งต่าง ๆ ด้วยมุมมองที่กว้างขึ้นและการฝึกสมาธิจะช่วยให้เราเข้าใจตัวเองได้ดีขึ้น
- เราต้องรู้จักตัวเองก่อน ค่านิยม และเหตุผลที่แท้จริงในการทำสิ่งต่าง ๆ เสมอ
- เมื่อคุณทำตามแพสชั่น จงจดจ่อกับมัน อยู่กับปัจจุบัน อยู่กับตัวเอง อย่าเพิ่งนึกถึงการแพ้ชนะ หรือความสำเร็จความล้มเหลว
- เงินมักไม่ใช่แรงจูงใจและแพสชั่นที่ดีในระยะยาว แพสชั่นที่ยั่งยืนคือแพสชั่นที่ตอบโจทย์ความสามารถ ตัวตน และการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
- แพสชั่นต้องสอดคล้องกับตัวตน, core values, และเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตของเรา ทำสิ่งที่สำคัญกับตัวเราหรือเป็นตัวเราจริง ๆ (เช่น ถามตัวเองว่า คุณเขียนหนังสือเพื่อขายหรือเพราะคุณเป็นนักเขียน)
- กลยุทธ์ในการเข้าใจตัวเองหนึ่งเว้นระยะห่างกับตัวเอง หัดมองสิ่งต่าง ๆ ด้วยมุมมองที่กว้างขึ้น หาประสบการณ์ ฝึกสมาธิ ฯลฯ
ขวัญมีแพสชั่นกับการสอน ไม่ใช่เพราะเงินหรือรายได้ แต่เพราะรู้สึกเป็นตัวเอง มีความสุข และความภูมิใจ เวลาที่ได้ถ่ายทอดความรู้หรือทักษะความสามารถให้คนอื่น ๆ แล้วได้เห็นพวกเขาพัฒนาหรือประสบความสำเร็จในเป้าหมายของพวกเขา
2. Focus on the Process, Not the Outcome
โฟกัสที่การเรียนรู้และการเติบโตระหว่างทางมากกว่าผลลัพธ์ การตั้งเป้าหมายและการบรรลุ small wins ช่วยรักษาแรงจูงใจ อย่าท้อเมื่อเผชิญกับความล้มเหลว เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโต
- ให้เริ่มจากการตั้งเป้าหมายแล้วใช้มันเป็นสิ่งนำทางมากกว่าเส้นชัย (เราต้องเชื่อก่อนว่า เป้าหมายคือการเดินทางไม่ใช่เส้นชัย) จากนั้นคิดหาการกระทำที่เราควบคุมได้เพื่อทำให้สิ่งนั้นเป็นจริง
- สนใจกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์หรือรางวัล ถ้าเราโฟกัสที่การเรียนรู้ เติบโต และพัฒนาตัวเอง วันนึงเราได้ความสำเร็จเป็นผลพลอยได้
- ให้ความสำคัญกับ small wins หรือการบรรลุเป้าหมายระยะสั้น ซึ่งช่วยรักษาแรงจูงใจระหว่างการเดินทางไปสู่เป้าหมายใหญ่
- อย่าเคร่งเครียดหรือยึดติดความเพอร์เฟ็กต์ในการทำสิ่งที่ตัวเองสนใจ
- อย่าสนใจแต่ผลลัพธ์หรือความสำเร็จ แทบทุกความสำเร็จต้องมีความล้มเหลว ถ้าเราล้มเหลวไม่เป็น วันหนึ่งเราจะถูกแพสชั่นครอบงำ จนอาจทำเรื่องที่ผิดและเสียสุขภาพจิตได้
- ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว ใช้เวลา 24 ชั่วโมงในการดื่มด่ำกับความสุข ความเศร้า หรือความพ่ายแพ้ แล้วกลับไปทำสิ่งที่ชอบต่อ
- อดทนทำบางสิ่งให้ลุล่วงแม้จะเจอความยากลำบากและช่วงเวลาที่เหมือนยังไม่เห็นผลลัพธ์
ช่วงที่ขวัญจู่ ๆ ก็ประสบความสำเร็จด้านการสอน essay มาก ๆ ก่อนหน้านั้นขวัญแทบไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากการโฟกัสที่หน้าที่เรื่องสอน ให้ความรู้ ตรวจและคอมเมนต์งานเขียนให้นักเรียนจริง ๆ เราแทบไม่ได้สนใจการทำการตลาด โฆษณา หรือคาดหวังเลยว่า เราจะทำเงินได้เท่าไหร่หรือมีคนมาสมัครเรียนกี่คนในคอร์สหน้า
3. True Passion Grows Within
แพสชั่นที่ยิ่งใหญ่เริ่มจากความรักและความชอบที่แท้จริง ไม่ใช่จากการแสวงหาการยอมรับจากภายนอก อย่าผูกคุณค่าของตัวเองกับผลลัพธ์หรือการยอมรับจากคนอื่น แต่จงโฟกัสที่ตัวเองและสิ่งที่เราควบคุมได้
- ให้ทำเพราะตัวเองชอบจริง ๆ เกือบทุกแพสชั่นที่ยิ่งใหญ่เริ่มจากการทำสิ่งที่ตัวเองรักหรือสนใจจากข้างในจริง ๆ
- แพสชั่นไม่ใช่สิ่งที่จู่ ๆ เราจะหาเจอ แต่มันเกิดขึ้นเมื่อเรามีสมาธิจดจ่อจดจ่อทำสิ่งที่ชอบหรือจดจ่ออยู่กับอะไรสักอย่าง แพสชั่นมักพัฒนามาจากการเริ่มทำตามความสนใจ และอุทิศเวลากับพลังงานเพื่อจดจ่อกับมันมากขึ้นทีละน้อย
- อย่าให้รางวัลตอบแทนหรือปัจจัยภายนอกเป็นตัวขับเคลื่อน
- อย่าหมกมุ่นหรือผูกตัวเองไว้กับเป้าหมายหรือรางวัลจนลืมเหตุผลแรกที่เริ่มลงมือ
- อย่าให้ค่ากับสิ่งที่ไม่จีรัง เช่น ความสำเร็จ หรือความล้มเหลว ถ้าเราผูกคุณค่าของเราไว้กับผลลัพธ์ภายนอกหรือสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น การยอมรับจากผู้อื่นหรือภาพลักษณ์ เราจะยิ่งเครียด และเริ่มมองไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง
- โฟกัสแค่ตัวเองและสิ่งที่เราควบคุมได้
ขวัญอยากทำคอนเทนต์เกี่ยวกับการดูหนัง-อ่านหนังสือ เพราะมันสะท้อนตัวตน ขวัญชอบดูหนัง-อ่านหนังสือ และก็แค่อยากจดบันทึกความคิดหรือแชร์กับกลุ่มคนที่ชอบมันเหมือนกัน โดยไม่ได้สนใจว่ามันจะต้องทำเงินเยอะ สร้างชื่อเสียงมาก หรือมีคนติดตามหลักล้าน
4. Commit Gradually and Wisely
ทุ่มเทอย่างค่อยเป็นค่อยไปและชาญฉลาด ไม่หมกมุ่น เพื่อสร้างแพสชั่นที่ยั่งยืน
- การค่อยเป็นค่อยไป เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการพัฒนาแพสชั่นให้มาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เพราะมันจะไม่กดดันมาก มีพื้นที่ให้ผิดพลาด ล้มเหลว และเรียนรู้จากมัน
- เลือกทุ่มเทกับสิ่งสำคัญอย่างชาญฉลาด อย่าทุ่มสุดตัวกับแพสชั่นตั้งแต่แรกเพราะมันจะกดดันให้รู้สึกว่าฉัน “จำเป็นต้อง” ประสบความสำเร็จ
- ถ้าต้องเลือกระหว่างสิ่งที่ต้องทำกับสิ่งที่ควรทำ (เช่น งานที่เป็นแพสชั่น กับงานประจำที่เงินดี) ให้เลือกทำทั้งสองอย่าง
5. Regularly Reflect on Your Core Values
แพสชั่นมักพัฒนาจากการทำตามความสนใจซึ่งเปลี่ยนแปลงได้และมีหลายอย่าง เราควรหมั่นสำรวจสิ่งใหม่ ๆ รู้จักปรับตัว ทบทวนเส้นทางของตัวเองเสมอ
- แพสชั่นและความสนใจนั้นเปลี่ยนแปลงได้ตลอด อยู่กับปัจจุบัน หมั่นสำรวจความสนใจใหม่ ๆ และคิดทบทวนถึงค่านิยมหลัก (core value) ไล่ตามสิ่งที่สนใจด้วยใจที่เปิดกว้างและไม่ด่วนตัดใจจากสิ่งนั้นนัก เพื่อให้มั่นใจว่า เรากำลังใช้ชีวิตถูกทางบนเส้นทางที่ใช่
- เมื่อต้องตัดใจจากแพสชั่น อย่ารีบไปทำอย่างอื่นทันที แต่ควรหาเวลาว่างเพื่อครุ่นคิด ประเมินตัวเอง และใช้ประสบการณ์ชีวิตจากแพสชั่นให้เป็นประโยชน์ในอนาคต
- เราไม่ควรถูกนิยามด้วยแพสชั่นใดแพสชั่นหนึ่ง คนเรามีมากกว่าหนึ่งมิติ แม้แพสชั่นจะเป็นส่วนสำคัญในชีวิตแต่ไม่ควรเป็นทุกอย่าง
6. Be Aware of the Costs
เมื่อเราหมกมุ่นกับแพสชั่น เราจะไม่มีทางอยู่บนความสมดุลได้ แต่เราต้องตระหนักรู้ถึงราคาที่ต้องจ่าย การใช้แพสชั่นอย่างมีสติ และการเลือกเส้นทางที่เหมาะสมกับตัวเอง
- ตระหนักว่า เมื่อเราหมกมุ่นกับแพสชั่น ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดีเรา ไม่มีทางมีความสมดุลได้ เราจะไม่สามารถจัดสรรเวลาให้กับทุกอย่างในชีวิตได้เท่ากัน หรือจดจ่อกับทุกอย่างในชีวิตได้พร้อม ๆ กัน
- สิ่งที่สำคัญกว่าความสมดุลคือการเข้าใจและตระหนักรู้ เราต้องประเมินค่าของสิ่งที่ต้องเสียสละระหว่างทางอย่างถี่ถ้วน ตัดสินใจใช้เวลาและพลังงานกับแพสชั่นได้อย่างมีสติ รู้ว่าเวลาไหนจะทุ่มสุดตัวกับบางสิ่งและรู้ว่าเวลาไหนควรหันไปทำอย่างอื่นด้วยเช่นกัน
- การใช้ชีวิตโดยมีแพสชั่นไม่ใช่เรื่องของการสมดุล แต่เป็นเรื่องของการทำตามแพสชั่นอย่างเต็มที่โดยที่มันยังสอดคล้องกับสิ่งอื่น ๆ ในชีวิต
- ถ้าเรารู้ราคาที่ต้องจ่าย ควบคู่ไปกับความเข้าใจตัวเอง เราจะสามารถประเมินสิ่งที่ต้องแลกกับการใช้ชีวิตตามแพสชั่นได้ดีขึ้น และจะเลือกได้ว่าจะใช้ชีวิตกับแพสชั่นนั้นได้อย่างไรโดยที่จะไม่เสียใจในอนาคต
สรุป
แพสชั่นเป็นพลังที่สำคัญในการขับเคลื่อนชีวิต แต่เพื่อให้แพสชั่นนั้นเฮลตี้ ยั่งยืน และไม่วกกลับมาทำร้ายเรา เราต้องรู้จัก ตระหนักรู้ และเข้าใจตัวเองก่อน เลือกทำตามแพสชั่นที่สอดคล้องกับตัวตนข้างในและค่านิยมหลักค่านิยมหลักของเรา พัฒนาแพสชั่นอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีสติ อยู่กับปัจจุบัน โฟกัสที่ตัวเอง การเติบโต และโปรเซส ไม่ใช่การเน้นผลลัพธ์ ความสำเร็จ หรือแรงจูงใจภายนอก ปล่อยให้ความสำเร็จเป็นเพียงผลพลอยได้จากการทุ่มเทอย่างแท้จริง และอย่าลืมเปิดใจสำรวจสิ่งใหม่ ๆ ปรับตัว ไม่ติดอยู่ในกรอบเดิม ๆ ที่สำคัญ เราต้องเข้าใจราคาที่ต้องจ่ายในการทำสิ่งที่หลงใหลด้วย
💡 Book Title - The Passion Paradox: ฉันหมด Passion หรือแค่ยังหามันไม่เจอ - Author - Brad Stulberg & Steve Magness 📌 พิกัดหนังสือ (แปลไทย) - https://s.shopee.co.th/5fWTkVxFsT