หลังจาก Marvel ประสบความสำเร็จกับการสร้างหนัง non-white hero อย่าง Black Panther ซึ่งเป็นเชื้อสายแอฟริกัน แฟน ๆ ก็คาดหวังจะได้เห็นหนังฮีโร่จากแถบฝั่งเอเชียกันบ้าง โดยประเดิมกันที่ SHANG-CHI AND THE LEGEND OF THE TEN RINGS เป็นเรื่องแรก
เส้นทางชีวิตของฮีโร่อเมริกันเชื้อสายจีน Shang-Chi หรือ Shaun (Simu Liu จาก Taken) คือความธรรมดาที่ไม่ธรรมดา เขาเป็นแค่เด็กจอดรถ (Valet Parking) ทำงานกับเพื่อนซี้ดูโอของเขา Katy (Awkwafina จาก The Farewell) ทั้งสองมีความรู้ความสามารถ แต่อยากใช้ชีวิตที่มีความสุขในแบบของเธอ ไม่ใช่ตามแบบความคาดหวังของครอบครัว
แต่แล้ววันหนึ่ง ชีวิตแสนธรรมดาของ Shaun ก็สิ้นสุดลง เมื่อพ่อของเขา Xu Wenwu (Tony Chiu-Wai Leung หรือ เหลียงเฉาเหว่ย ซูเปอร์สตาร์ฮ่องกง) ส่งลูกน้องมาตามล่าสร้อยของ Shaun ที่แม่ของเขา Jiang Li (Fala Chen) เคยให้เขากับ Xialing น้องสาวของเขา (Meng’er Zhang) เอาไว้ก่อนแม่ตาย
Family Reunion นี้เกิดจาก Wenwu ผู้เป็นอมตะจากการครอบครองวงแหวนทั้งสิบ (Ten Rings) และกองทัพนักฆ่า Ten Rings ต้องการหาทางเข้าไปยังหมู่บ้านลับแล “Ta Lo” ซึ่งเป็นบ้านเกิดของภรรยาหรือแม่ของ Shaun และ Xialing เพราะเขาเชื่อว่า Ying Nan (Michelle Yeoh จาก Crazy RIch Asians) และคนในหมู่บ้านมีสิ่งที่เขาปรารถนาที่สุดอยู่
you can’t run from your past.
โดยส่วนตัวแล้ว เราคิดว่า SHANG-CHI AND THE LEGEND OF THE TEN RINGS มีรสชาติเหมือนร้านอาหารจีนทั่วไปที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จัก นั่นก็คือค่อนข้างจืด แต่ในขณะเดียวกัน หนังก็มีเมนูอาหารจีนที่ไม่จืด ไม่เลี่ยน อยู่บ้างเหมือนกัน ที่เป็นหน้าเป็นตาและจุดขายของร้าน หนึ่งในนั้นก็คือ Tony Leung ซึ่งเป็น antagonist ที่มีมิติ และการแสดงก็มีมิติ (ส่วน Michelle Yeoh, Benedict Wong, และ Ben Kingsley บทน้อยมาก มาแค่พอเป็นสีสัน โดยเฉพาะคนหลัง เหมือนพยายามใส่มาและยัดเยียดความสำคัญให้บท เพียงเพื่อให้มีดารา A-List ของฝั่งฮอลลีวู้ดมาช่วยดึงแขก)
อย่างไรก็ตาม เมนูจานเด็ดสุด ๆ ของ SHANG-CHI AND THE LEGEND OF THE TEN RINGS คือ ฉากแอ็คชั่นที่ถือว่ามัน(ส์)สะใจ และ visual สวยน่าจดจำ เช่น ฉากต่อสู้บนรถบัสที่เหมือน Speed x Fast & Furious (หรือรถเมล์สาย 8 ในตำนานของบ้านเรา) และ ฉากต่อสู้ที่สนามมวยใต้ดิน ณ วันรียูเนียน รวมถึงฉากต่อสู้ที่มีความกังฟูหรือความจีนสูง อย่างฉากการพบกันครั้งแรกของพ่อแม่พระเอก หรือฉากการซ้อมรบที่หมู่บ้าน Ta Lo แต่สำหรับฉากไฟนอลในองก์สุดท้าย เราค่อนข้างเฉย ๆ ถึงแม้หนังจะพยายามขาย CG อันยิ่งใหญ่ของมังกรแค่ไหนก็ตาม ส่วนหนึ่งอาจเพราะยังรู้สึกไม่ค่อยถูก convinced ที่ Shaun และ Katy อัพสกิลการต่อสู้อย่างก้าวกระโดดเพียงชั่วข้ามคืน จนสามารถต่อกรกับพ่อที่มีทั้ง Ten Rings และวิทยายุทธที่สะสมมานับพันปี รวมถึงมอนสเตอร์ยักษ์ในตำนานนั่นอีก
You are a product of all who came before you, the legacy of your family. You are your mother. And whether you like it or not, you are also your father.
สิ่งที่เด่นกว่าพลังของ Ten Rings ในเรื่องนี้ คือพลังของครอบครัว ซึ่งมีความจีนหรือวัฒนธรรมตะวันออกอย่างสุด ๆ ตั้งแต่ความผูกพันหรือเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ, แนวคิดลูกคือผลผลิตของพ่อแม่และบรรพบุรุษ ต้อง embrace ทั้งเลือดดีเลือดชั่วของบุพการีที่หล่อหลอมให้เราเป็นเราอย่างทุกวันนี้, Katy ลูกสาวคนโตของครอบครัวที่อพยพมาจากแผ่นดินใหญ่ เธอที่เกิดและโตที่อเมริกา มีความอเมริกันชนสูงกว่าจีน แต่คนก็ยังมองหรือบูลลี่เธอในฐานะที่เธอเป็นคนจีน แถมคนในครอบครัวก็ยังคาดหวังให้เธอได้งานที่ดีและแต่งงานไว ๆ เพื่อเป็นหน้าเป็นตาของวงศ์ตระกูล, และ Xialing ลูกสาวคนเล็กของตระกูล ที่เหมือนไม่มีตัวตนในบ้านและพ่อไม่อนุญาตให้เรียนศิลปะการต่อสู้เหมือนพี่ชาย จนเธอต้องแอบฝึกฝนเองและสร้างอาณาจักรของเธอเอง
ทั้งนี้ เราคิดว่า Xialing ควรได้รับความสำคัญเท่า ๆ กับ Shang-Chi เพราะเธอได้รับอิทธิพลทั้งด้านบวกและลบจากพ่อแม่และมีปมครอบครัวแทบไม่ต่างกับพี่ชาย ในพาร์ทการต่อสู้เพื่อครอบครัว เธอก็เป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้พอ ๆ กับพี่ชาย แต่สุดท้ายคน… หรือแม้แต่ตัวหนังเอง….ไม่ได้ยกย่องเธอเป็นฮีโร่ แบบที่ Shang-Chi ได้เป็น หรือภาคนี้มันก็แค่ปฐมบท สุดท้าย Marvel อาจอยากจะเก็บเรื่องของเธอไปเล่าต่อในภาคหน้า ๆ รวมถึงที่มาที่ไปที่แน่ชัดของ Ten Rings เราก็ต้องรอชมกันอีกทีว่าจักรวาลฮีโร่เอเชียนี้จะเป็นอย่างไรต่อไปในจักรวาล Marvel
SHANG-CHI AND THE LEGEND OF THE TEN RINGS ฉายแล้ววันนี้ในโรงภาพยนตร์ สเกลซีนแอ็คชั่นก็เหมาะแก่การชมในโรงภาพยนตร์ แต่ถ้าใครจะรอสตรีมบน Disney Plus ก็เตรียมสตรีมได้เลย ตั้งแต่ 12 พ.ย. 2021 เป็นต้นไป
ป.ล. มีฉาก mid-credits และ post-credits อย่างละซีน สาวก Marvel ควรรอชมให้สุด
2 comments
Comments are closed.