Little Women ดั้งเดิมเป็นหนังสือของ Louisa May Alcott ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี 1868 บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของสี่พี่น้องหญิงล้วนครอบครัว March ในช่วงยุค Civil War โดยอนุมานได้ว่า “Jo March” พี่สาวคนรองของบ้าน ซึ่งเป็นตัวละครเอกของเรื่อง ก็คือตัว Alcott เองนั่นเอง
วรรณกรรมสุดคลาสสิกเรื่องนี้ถูกถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์และซีรีส์มาแล้วหลายครั้ง แต่ Little Women เวอร์ชั่นของ Greta Gerwig (ผู้กำกับหญิงและมือเขียนบทดาวรุ่งจาก Lady Bird) นี้ มีการตีความและการเล่าเรื่องที่แตกต่างจากฉบับก่อน ๆ โดยที่ยังมีความเคารพต่อต้นฉบับ พร้อม ๆ กับการนำเสนอเรื่องราวหรือบริบททางสังคมในสมัยนั้นอย่างร่วมสมัย
Greta Gerwig เลือกเปิดเรื่องในฉากที่ Jo March (Saoirse Ronan นักแสดงสาววัย 25 ปี ผู้เข้าชิงออสการ์มาแล้ว 3 สมัยจาก Atonement, Brooklyn, และ Lady Bird) กำลังเสนอขายงานเขียนของเธอให้กับ Mr. Dashwood (Tracy Letts จาก Lady Bird) บรรณาธิการที่สำนักพิมพ์แห่งหนึ่งในนิวยอร์กแล้ว และที่นิวยอร์ก เธอก็ได้รู้จักกับศจ. Friedrich Bhaer (Louis Garrel) ซึ่งแสดงออกอย่างชัดเจนว่าสนใจในตัวเธอ
จากนั้นหนังก็เล่าเรื่องตัดสลับไปมาระหว่าง Childhood กับ Adulthood ของเหล่าตัวละครเอก โดยใช้โทนสีภาพคนละโทนกัน ซึ่งภาพสวย องค์ประกอบสวยงามลงตัวมาก และการเล่าเรื่องก็ค่อนข้างแตกต่างจากฉบับนิยายหรือหนังฉบับก่อน ๆ ที่มักเล่าตามไทม์ไลน์เป็นเส้นตรง ทั้งนี้ ถึงแม้ศูนย์กลางของเรื่องจะยังคงเป็น Jo March แต่เราก็จะได้รับรู้เรื่องราวของพี่น้องคนอื่น ๆ ด้วยไม่น้อยเหมือนกัน
หลัก ๆ เลย Little Women นำเสนอความหลากหลายในการตีความ “femininity” กับ “feminist” ที่ไม่ได้จำเป็นว่า ต้องเป็นโสด หรือต้องทำงานนอกบ้านเพียงอย่างเดียว แต่ผู้หญิงทุกคน ไม่ว่าจะเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก จะอยากแต่งงานกับผู้ชายรวย หรือจะอยู่ขึ้นคานเป็นโสดตลอดชีวิตก็ตามแต่ หากเธอมีเป้าหมายและเลือกทางเดินของชีวิตของตนเองด้วยตนเองว่าเธอจะทำหรือไม่ทำอะไร เธอเลือกเอง ลิขิตเอง นั่นแหละ เธอคือ Feminist
- Jo มีความ independent ที่สุดในบรรดาพี่น้อง มีความฝันอยากเป็นนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ เลี้ยงดูครอบครัว (พ่อแม่พี่น้อง) ได้ด้วยสิ่งที่เธอสร้างขึ้นมาเอง และไม่คิดว่าตัวเองจะแต่งงาน ถึงแม้เธอจะตัวติดกันกับ Theodore ‘Laurie’ Laurence (Timothée Chalamet ผู้เข้าชิงออสการ์จาก Call Me by Your Name) เด็กหนุ่มข้างบ้านที่หล่อและรวยมาก อยู่แทบตลอดเวลา
- Meg (Emma Watson จาก Harry Potter) พี่สาวคนโต สวยและมีความ feminine ที่สุดในบรรดาพี่น้อง เธอชื่นชอบของสวย ๆ งาม ๆ และมักบ่นเบื่อความยากจน แต่สุดท้ายเธอก็ตกหลุมรักกับ John Brooke (James Norton จาก Happy Valley) ซึ่งเป็นติวเตอร์ของ Laurie และการแต่งงานของ Meg เป็นสัญญาณบอกว่าชีวิตวัยเยาว์ของสี่ดรุณีกำลังสิ้นสุดลงแล้ว
- Beth (Eliza Scanlen จาก Sharp Objects) น้องสาวรองสุดท้อง นางฟ้าของบ้าน จิตใจดี ขี้อาย และรักการเล่นเปียโน เธอทำให้คุณปู่ Lawrence (Chris Cooper ผู้ชนะออสการ์จาก Adaptation.) ระลึกถึงลูกสาวที่จากไปของเขา แต่ Beth น่าสงสารตรงที่เธออ่อนแอและเจ็บป่วยง่ายที่สุดในบรรดาพี่น้อง
- Amy (Florence Pugh จาก Midsommar) น้องสาวคนเล็ก เอาแต่ใจ มุ่งมั่นที่จะแต่งงานกับผู้ชายรวย และอยากเป็นจิตรกร ต่อมา Aunt March (Meryl Streep ผู้เข้าชิงออสการ์ 21 สมัย) ป้าของเธอ ซึ่งแก่ โสด และรวยมาก พาเธอไปชุบตัวและเรียนศิลปะที่ยุโรป
เด็กสาวทั้งสี่อาศัยอยู่กับแม่ (Laura Dern จาก Marriage Story) และแม่บ้าน (Jayne Houdyshell) เพราะพ่อของพวกเธอ (Bob Odenkirk จาก Better Call Saul) ถูกเกณฑ์ไปรบในสงครามกลางเมือง อย่างไรก็ตาม ถึงแม้บ้านหลังนี้จะหลังเล็ก ๆ และไม่ได้มีเงินทองร่ำรวย แต่บ้านก็เต็มไปด้วยความรักความอบอุ่น ต่างจากคฤหาสถ์หลังใหญ่ของ Lawrence และ Aunt March ที่ใหญ่โต หรูหรา แต่เงียบเหงา
ความรักหรือการแต่งงานเป็นประเด็นหลักของเรื่องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกับที่ตัวผู้เขียนเองก็คงถูกคาดหวังจากสังคมในสมัยนั้น (หรือกระทั่งในสมัยนี้ก็ด้วย) ว่าผู้หญิงจะต้องแต่งงาน เหมือนที่ Jo ถูก บ.ก. บังคับว่า นางเอกในนิยายของเธอจะต้องได้แต่งงานในตอนจบ… หรือไม่ก็ตาย… อย่างใดอย่างหนึ่ง… มิเช่นนั้นนิยายมันขายไม่ได้
ตรงนี้เอง… ที่ Greta Gerwig ทำให้เราฉุกคิดว่า หรือจริง ๆ แล้ว ตอนจบจริง ๆ ของเรื่อง (ที่ไม่ใช่ตอนจบที่เขียนเป็นตัวหนังสือในนิยาย) Jo March ไม่ได้แต่งงานกับใครทั้งสิ้นตามอุดมการณ์เดิมของเธอ เช่นเดียวกับที่ Louisa May Alcott (ผู้เขียนหนังสือ) ก็ครองตัวเป็นโสดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
เพราะฉากช่วงท้ายของ Greta Gerwig นี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาหาที่บ้าน นางเอกขึ้นรถม้าฝ่าสายฝนตามผู้ชายไปสถานีรถไฟ กระทั่งจูบใต้ร่มกับไดอะล็อกที่ฟังดูโรแมนติกผิดวิสัยของ Jo March ฯลฯ คือมันค่อนข้างดูละครและดูเทพนิยายเกินไปเสียหน่อยเมื่อเทียบกับเรื่องทั้งเรื่องที่เธอพยายามเล่ามาทั้งหมดแบบเรียล ๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการตีความและมุมมองของคนดูแต่ละคน
Jo March (ซึ่งเป็นตัวแทนของ Louisa May Alcott) เป็นตัวละครที่หลายคนหลงรัก และเป็นแรงบันดาลใจให้คนหลายคน รวมถึงวรรณกรรมยุคหลัง ๆ หลายเล่ม มันไม่ใช่งานง่ายที่จะถ่ายทอดบทบาทนี้ แต่ด้วยการตีความของ Greta Gerwig ประกอบกับการแสดงอันมีมิติและยอดเยี่ยมไร้ที่ติของ Saoirse Ronan ทำให้เราหลงรักตัวละครนี้ยิ่งขึ้นไปอีก และเสียน้ำตาให้กับเธอในหลาย ๆ ฉาก โดยเฉพาะฉากที่เธอเปิดอกคุยกับแม่เรื่องความเป็นผู้หญิง และฉากที่ปฏิเสธ Laurie พูดได้เลยว่า She deserves the 4th Oscar nomination.
พูดถึง Laurie ก็ต้องบอกด้วยว่า Timothée ก็เป็น Laurie ที่งดงาม และเคมีเข้ากับ Saoirse มาก ๆ (ถ้ามีใครจะจิ้นให้สองคนนี้คู่กันในชีวิตจริง ก็ไม่แปลกใจ) เราไม่สามารถสลัด Laurie เวอร์ชั่น Timothée ออกจากหัวได้ ตั้งแต่ฉากแรกที่เขาเจอ Jo และทุก ๆ ฉากที่เราเห็นเขาอยู่กับ Jo สายตาของเขามันทำให้เราเชื่อเลยว่าเขาหลงรักผู้หญิงคนนี้ตั้งแต่แรกเห็นและรักเธอในแบบที่เธอเป็น (ซึ่ง Jo ก็คงแฮปปี้ที่ Laurie ไม่เคยพยายามตีกรอบหรือเปลี่ยนอะไรในตัวเธอเลย) จนถึงฉากที่เขาถูก Jo ปฏิเสธ เราก็สัมผัสได้ถึงความเจ็บปวดและหัวใจที่กำลังแตกสลายของเขา
ยอมรับว่า ในฐานะผู้หญิงธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ที่คลั่งไคล้น้อง Timothée อยู่เป็นทุนเดิม (พูดได้อย่างไม่อายฟ้าอายดิน) ก็แอบขัดใจที่ Jo เท Laurie และตอนท้ายก็มีแอบสมน้ำหน้านางปนกับขัดใจอยู่มาก ๆ เช่นกันที่ Laurie ลงเอยกับ Amy ที่นิสัยดีน้อยสุดในบรรดาพี่น้อง แสดงออกถึงความคันมาแต่เล็กแต่น้อย แถมยังเคยเผางานเขียนของพี่สาวเพียงเพราะอิจฉาที่ Laurie ชวน Jo ออกไปดูละคร (She doesn’t deserve Timothée!)
แต่ถ้าตัดอคติและนี้ดส่วนตัวออกไป เราก็คิดแหละว่า Jo กับ Laurie ก็เหมาะเป็นแค่เพื่อนกัน ส่วน Amy ที่มีจุดประสงค์ชัดเจนที่จะแต่งงานกับคนรวยนั้น เธอก็มีเหตุผลตามบริบททางสังคมในสมัยนั้นที่เข้าใจได้ของเธอ เช่น ต่อให้เป็นผู้หญิงที่มีเงิน แต่พอแต่งงาน เงินก็จะไปเป็นของผู้ชาย หรือคลอดลูกมา ลูกก็เป็นสมบัติของผู้ชาย ไม่ใช่ของเธอ ฯลฯ ดังนั้น ถ้าต้องแต่งจริง ๆ แต่งทั้งที ก็ขอแต่งแบบคุ้ม ๆ ไปเลย ให้คุ้มกับสิ่งที่เธอต้องเสียไป (แต่ทั้งนี้ มันก็ต้องมีความรักด้วยเหมือนกันนะ ไม่ใช่ดูแต่เงินอย่างเดียว)
แล้วทีนี้ผู้หญิงจะมีอะไรเป็นของตัวเองได้บ้าง? Jo ไม่อยากแต่งงาน แต่อยากเป็นนักเขียนมีชื่อที่คนจดจำ พยายามลองเขียนงานของเธอในหลาย ๆ แนว จนกระทั่งได้มาลองเขียนอะไรที่มันเรียลและเกี่ยวกับตัวเองจริง ๆ ส่วน Amy พยายามวาดรูป แต่สุดท้ายเธอก็รู้สึกว่า เธอยังไม่ genius พอ ซึ่งถ้าเธอไม่ genius พอ เธอจะเป็นได้แค่เพียงจิตรกรตลาดล่างข้างถนน ดังนั้นเธอจึงเลือกที่จะล้มเลิกความคิดที่จะเป็นจิตรกรนั้นไปเลย และเลือกการแต่งงานซึ่งเป็นหนทางเดียวที่เหมือนจะเป็นหนทางสุดท้ายในการช่วยยกฐานะให้ผู้หญิงอย่างเธอได้มีหน้ามีตาในสังคมได้
ซึ่ง Florence Pugh ก็เป็น Amy ได้อย่างน่าสนใจ ในขณะที่หนังนำเสนอให้เราได้เห็นปัญหาและการก้าวข้ามผ่าน (coming-of-age) ของสาว ๆ แต่ละคนอย่างเท่า ๆ กัน (ยกเว้น Jo ที่เยอะหน่อย) Florence Pugh หรือ Amy นี่แหละ ที่พอจะประกบกับการแสดงของ Saoirse Ronan ได้โดยไม่ดร็อป มีความโดดเด่นเจิดจรัสมากในบทบาทสมทบ ทั้งบท Amy วัยเด็กและวัยสาว โดยเฉพาะซีนที่เธอพูดถึงประเด็นการแต่งงานกับผู้ชายรวย อันนั้นคือปัง (ปีนี้เป็นปีของเธอจริง ๆ) ส่วน Emma Watson กับ Eliza Scanlen อยู่ระดับทั่วไป ไม่มีอะไรน่าจดจำ ซึ่งเอาจริงคือ แอบผิดหวังนิดหน่อย
โดยสรุปหนัง Little Women ฉบับการกำกับและเขียนบทภาพยนตร์โดย Greta Gerwig นี้ จะต้องติด Top 10 หนังแห่งปี 2020 ของเราอย่างแน่นอน (เพิ่งพ้นปีใหม่ได้ไม่กี่วัน แต่มั่นใจละ)
เพราะเราชอบการเล่าเรื่องเฟมินิสต์และตีความบทประพันธ์คลาสสิกใหม่ที่น่าสนใจ ทันสมัย ไม่น่าเบื่อ ทีมนักแสดงโดยรวมถือว่าดีมาก ถึงแม้บางคนจะอยู่ในขั้น average แต่บางคนก็ช่วยฉุดเกรดของทีมขึ้นได้มาก ที่ตราตรึงก็เช่น Saoirse Ronan, Florence Pugh, และ Timothée Chalamet ที่ต่างก็ทำให้เรารู้สึกถูกบีบหัวใจและต้องเสียน้ำตาอย่างห้ามไม่ได้
คะแนนตามความชอบส่วนตัว 9/10
35 comments
Comments are closed.