ถึงแม้ No Escape (เดิมหนังชื่อ The Coup) จะเป็นหนังค่อนไปทางเกรด B และไม่ค่อยได้รับการโปรโมตมากนัก (ตอนแรกจะเข้าตั้งแต่ March แต่ถูกเลื่อนมา September แถมแอบมีข่าวลือว่าถูกแบนไม่ให้ฉายในไทยแล้วเสียด้วยซ้ำ)
แต่เราคิดว่าหนัง No Escape มันมีความน่าสนใจในตัวของมันเองอยู่แล้ว เพราะหนังมันถ่ายทำที่ จ.เชียงใหม่ ประเทศไทย (ตั้งแต่ปี 2013) และมีเนื้อหาเกี่ยวกับครอบครัวอเมริกันครอบครัวหนึ่งที่มาติดแหง็กอยู่ในเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศแห่งหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เออ ไม่รู้จริงๆ ว่าประเทศอะไรค่ะ)
เรื่องย่อ No Escape
วิศวกรชาวอเมริกัน Jack Dwyer (Owen Wilson จาก Midnight in Paris, Night at the Museum ฯลฯ) ได้รับการว่าจ้างจากบริษัทมะกันยักษ์ใหญ่ให้มาดูแลจัดการระบบประปาในประเทศแห่งหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ตามหลักก็ประเทศไทยนั่นแหละ ยอมรับเถอะ จะได้เข้าใจง่ายๆ เนาะ)
Jack จึงต้องพาครอบครัวของเขา: ภรรยาสุดที่รัก Annie (Lake Bell จาก What Happens in Vegas, No Strings Attached) และลูกสาวทั้งสอง Lucy (Sterling Jerins จาก World War Z และ The Conjuring) & Beeze Claire Geare จาก Inception) บินข้ามน้ำข้ามทะเลมาตั้งรกรากที่ดินแดนโลกที่สี่แห่งนี้
แต่ความโชคร้ายคือ หลังจากที่พวกเขาถึงที่พักได้ไม่กี่ชั่วโมง ก็เกิดรัฐประหารขึ้น นายกฯ ถูกยิงตาย และมีการก่อจราจลฆ่าล้างชาวต่างชาติกันทั่วเมือง Jack จึงต้องทำหน้าที่เป็นหัวหน้าครอบครัว พาลูกเมียหลบหนีออกจากประเทศนี้ให้ได้ โดยมี Hammond (Pierce Brosnan หรืออดีต James Bond 007) นักท่องเที่ยวที่พวกเขาเจอบนไฟลท์ กับ Kenny Rogers คนท้องถิ่น (Sahajak Boonthanakit จาก Only God Forgives) เข้ามาร่วมด้วยช่วยเหลือ
รีวิว วิเคราะห์ วิจารณ์ No Escape
Escape เขาไม่ได้บอกตรงๆ โต้งๆ ว่าครอบครัว Dwyer มาที่ประเทศไทย ทั้งเรื่องไม่มีการพูดถึง “ประเทศไทย” เลยแม้แต่คำเดียว ฟอนต์ตัวอักษรที่ปรากฏในหนัง รวมถึงบริบทต่างๆ ในโลเกชั่น ถูกปรับเปลี่ยนเป็นภาษาอื่นหมด (น่าจะเป็นภาษาเขมร) ทั้งนี้ผู้กำกับฯ คงทราบดีว่าประเทศไทยเราเป็นประเทศที่ละเอียดอ๊อน…ละเอียดอ่อน (อุ๊ปส์!)
อย่างไรก็ตาม หนังก็ยังพอมีฟอนต์อักขระไทยเล็ดลอดมาบ้างบางฉาก (เช่น ป้ายชื่อโรงแรมที่ครอบครัว Dwyer เข้าพัก) และตัวละครที่เป็นเสมือนตัวร้ายในเรื่องยังพูดภาษาไทยชัดถ้อยชัดคำอีกต่างหาก (“ฆ่ามันให้หมด!”)
แต่ไม่ว่าจะดินแดน “สารขัณฑ์ (Sarkhan)” ในเรื่อง จะแทนประเทศไทยหรือกัมพูชาก็ตามแต่ หนังก็สะท้อนให้เราเห็นว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรานี้เป็นดินแดนศูนย์รวมของโลกที่สาม ยังไม่เจริญแม้กระทั่งน้ำไฟ เต็มไปด้วยนักต้มตุ๋นและโสเภณีขายบริการ และประชากรยังไม่ค่อยรู้ภาษาอังกฤษ
ภูมิภาคอาเซียนขึ้นชื่อว่าเป็นภูมิภาคที่ multilingua, multiethnic, และ multicultural มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ถึงแม้จะมีจุดแข็งด้าน tourist attractions ทั้งแบบ natural และ cultural แต่ก็มิวาย ยังติดปัญหาใหญ่ตรงที่ local people ไม่ค่อยสามารถสื่อสารด้วยภาษา international อย่างภาษาอังกฤษได้ และพวกป้าย แผนที่ หรืออะไรต่างๆ ที่ควรจะช่วยซัพพอร์ตนักท่องเที่ยวได้นั้น ก็ยังมีเป็นภาษาอังกฤษน้อยมาก โดยเฉพาะตามพื้นที่เล็กๆ
ในส่วนของเชื้อชาติ ถ้ามองผิวเผิน เราอาจรู้สึกว่าหนังมีการ “เหยียด” เอเชียค่อนข้างเยอะ แต่ถ้ามองแบบเปิดใจจริงๆ เราจะเข้าใจว่า จริงๆ เขาก็ไม่ได้เหยียดนะ เขาพูดความจริงจริงๆ แหละ ถ้าเรารับได้ เราก็จะเข้าใจ แต่ถ้าเรารับไม่ได้ เราก็จะมองว่าเขาเหยียด (และก็ไม่คิดจะพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นต่อไป)
แล้วบางที… เราอาจจะเอาแต่คิดว่าเขาเหยียดเรา จนลืมไปว่าตัวเราเองก็เหยียดเขาเหมือนกัน (ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว) เช่น อย่างที่เห็นในหนัง เราก็เรียกพวกเขาว่า “ฝรั่ง” (แต่นั่นแหละ… ปัจจุบันมันก็เป็นคำที่ยอมรับได้สำหรับพวกเราไปละ… แต่ใช่ว่าคนต่างชาติทุกคนจะชอบให้เราเรียกเขาอย่างนั้น… จริงมั้ย)
นอกจากนี้ บางคนอาจมองว่า หนังเขาสร้างให้คนเอเชียอย่างเราเป็นตัวร้าย ฉากฝูงมหาประชาชนถึงอาวุธเคลื่อนทัพจู่โจมเจ้าหน้าที่เหมือนช่างกลตีกัน ตีความได้ว่า ประชาชนเป็นตัวร้ายที่ทำร้ายเจ้าหน้าที่ หรือฉากที่ฝูงเอเชียวิ่งไล่ล่าตามฆ่าชาวต่างชาติอย่างกระหายเลือด ก็ทำให้นึกถึงคืนโหดในหนังเรื่อง The Purgeหรือฝูงซอมบี้ใน World War Z (และที่ตลกคือ ลูกสาวคนโตของ Owen Wilson Brad Pitt ใน World War Z ด้วย) แต่ถ้าดูอย่างตั้งใจไปจนถึงช่วงองก์สุดท้ายของเรื่อง เราจะเข้าใจว่า หนังเขาไม่ได้ตั้งใจจะวาง positioning ให้พวกเราอย่างนั้น
จริงๆ แล้ว เรื่องบางเรื่องมันก็ไม่ได้มีดีมีเลวหรือมีถูกมีผิดไปซะทีเดียว 100% คนเรา…ไม่ว่าจะชาติไหนๆ…ล้วนแต่มีมากกว่ามิติเดียว
อีกประเด็นที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ บทบาทของ Annie Dwyer ผู้ซึ่งมีบทบาทหลักเป็นทั้งแม่และเมีย
ในฐานะสมาชิกสมาคมนิยมหนุ่มวิศวกร เรารู้สึกว่าเป็นอะไรที่น่าหงุดหงิดใจอยู่เบาๆ ที่พระเอกของเรื่องประกอบอาชีพวิศวกร แต่ดูเหมือนไม่ค่อยได้ใช้สมองหรือพื้นฐานความถนัดทางวิศวกรรมในการแก้ปัญหาในเรื่องสักเท่าไหร่นัก แต่เอาเถอะ… นั่นไม่ใช่ประเด็น
ในช่วงต้นเรื่อง Annie ภริยาของวิศวกรคนนี้ ก็ดูเป็นแค่ผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง แถมยังมีฉากแสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของเธออีกต่างหาก แต่จะเห็นได้ว่า พอเมื่อถึงเวลาคับขัน เธอก็ต้องสวมวิญญาณมนุษย์แม่ ค่อยๆ เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ เพราะเธอต้องปกป้องลูกสาวทั้งสองคน
และแน่นอนว่า ในขณะเดียวกัน เธอจะต้องช่วยเหลือสามี…คนรักของเธอด้วย เธอจะเป็นตัวถ่วงของเขาไม่ได้ หรือจะเอาแต่คอยให้ผู้ชายจัดการทุกอย่างหมดก็ไม่ได้เช่นกัน
จำไว้ว่า ผู้ชายก็ล้มได้และอ่อนแอเป็น ดังนั้น คนรักกันก็ต้องดูแลซึ่งกันและกันในเวลาที่อีกฝ่ายอ่อนแอ ที่สำคัญเขาไม่ได้อยู่กับเราตลอดเวลา จำไว้ นี่แหละแม่ของลูก…
ส่วนบทบาทของ Pierce Brosnan ดูเหมือนจะเป็นจุดอ่อนของหนังอยู่สักหน่อย เหมือนผู้กำกับฯ แค่อยากให้มีอดีตสายลับ 007 มาเป็นหนึ่งในตัวชูโรงของเรื่องแล้วก็จู่ๆ ก็ยัดใส่เพิ่มมายังไงก็ไม่รู้ ความสำคัญของเขาน่าจะแพงกว่านี้ได้อีก เท่าที่ปรากฏบนจอ เรารู้สึกว่าบท Hammond (รวมถึง Kenny Rogers ที่เป็นคนไทยแสดง) ยังดูไร้ที่มาที่ไปที่ชัดเจน…เหตุผลหรือแรงจูงใจของตัวละครก็เช่นกัน มันดูใช้นักแสดงไม่คุ้มด้วยแหละ ไม่ใช่อะไร
เอาเป็นว่า โดยรวมแล้ว คุณภาพของ No Escape อาจไม่ได้ดีเด่ท็อปฟอร์ม และทุนสร้างก็ไม่ได้มหาศาลฟอร์มยักษ์ แต่ด้วยต้นทุนเท่าที่มี เราคิดว่า No Escape เป็นหนังที่ไม่แย่ และดูสนุกเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว กล่าวคือ หนังเขาเล่าเรื่องโอเค ฉากการไล่ล่า-หลบหนี เครียดและกดดันลุ้นกันเยี่ยวเหนียวเลยทีเดียว ที่สำคัญคือมันเรียล มันสมจริง อย่างกับเราได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์จริงๆ
ในส่วนของตัวบทก็แฝงสาระสำคัญที่คนไทยควรดู ในหนังจะมีจี๊ดหลายช็อตและมีจึ้กหลายประโยค เป็นอะไรที่อยากแนะนำให้คนไทยดู เพราะหนังเรื่องนี้มันสะท้อนวัฒนธรรม วิถีชีวิต ลักษณะนิสัยของคนบ้านเรา ในมุมมองที่ฝรั่งเขามองมา หลายๆ อย่าง
สำหรับหนังเกรดประมาณนี้ เราขอให้คะแนนตามความชอบส่วนตัวที่ 8/10 และแอบเชียร์ให้คนไทยไปดู เพราะเหตุการณ์ในเรื่องนี้… ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราเลย… ใกล้ตัวจะตาย… จริงมั้ย…
66 comments