Damien Chazelle เป็นที่รู้จักจากการเขียนบทและกำกับ Whiplash (2014) เรื่องราวของ Andrew Neyman (Miles Teller) หนุ่มมือกลองวงแจ๊ส และ Terence Fletcher (J.K. Simmons) อาจารย์สุดโหด ที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ 5 สาขา และได้รับรางวัล 3 สาขา ได้แก่
- Best Picture
- Best Adapted Screenplay
- Best Supporting Actor, J.K. Simmons (Winner!)
- Film Editing (Winner!)
- Best Sound Mixing (Winner!)
ปีนี้ Damien Chazelle กับ passion ในดนตรีแจ๊สของเขากลับมาอีกครั้งกับทุนสร้างที่หนาขึ้นกว่าเดิมถึงสิบเท่า!… La La Land ภาพยนตร์ Musical-Romantic อำนวยการสร้างโดยโปรดิวเซอร์ชื่อดังมากประสบการณ์ Marc Platt
ล่าสุด La La Land ได้เข้าชิงลูกโลกทองคำสูงสุด 7 สาขา สาขาใหญ่ ๆ ทั้งนั้น อีกทั้งยังเป็นตัวเต็งออสการ์อีกด้วย
เรื่องย่อ La La Land
เรื่องราวของ La La Land เกิดขึ้นในเมือง LA เมื่อ Sebastian (Ryan Gosling จาก Drive, The Big Short) นักเปียโนแจ๊สผู้มีความฝันอยากเปิดคลับเป็นของตนเองแต่ชีวิตยังคงจนตรอกและถูกผู้จัดการ (J.K. Simmons จาก Whiplash) ไล่ออกจากร้านอาหารที่เขาเล่นอยู่ โคจรมาพบรักกับ Mia (Emma Stone จาก The Amazing Spider-Man, Birdman) สาวน้อยผู้ใฝ่ฝันอยากเป็นนักแสดง ออดิชั่นนับครั้งไม่ถ้วน แต่สุดท้ายก็ยังเป็นได้แค่พนักงานร้านกาแฟในสตูดิโอของ Warner Bros.
รีวิว วิเคราะห์ วิจารณ์ และแนะนำไฮไลท์ของหนัง La La Land
La La Land เริ่มจากความฝันของ Damien Chazelle ผู้กำกับและนักเขียนบทดาวรุ่ง เขาต้องการทำหนังที่เอาเสน่ห์และพลังจากยุคหนังเพลงมาใส่ในยุคที่ยุ่งเหยิงแบบทุกวันนี้
Damien Chazelle มองว่าครึ่งศตวรรษหลังที่ผ่านมานี้ โลกหมุนไปเร็วมาก ทำให้เราต่างให้ความสำคัญกับเรื่องต่าง ๆ น้อยลง เช่น การพบกันโดยบังเอิญ หรือการพลาดโอกาสต่าง ๆ เช่น การล้มเลิกความฝันทันทีเมื่อมาถึงทางตัน เขาจึงอยากทำหนังเล่าเรื่องความรักและความฝัน โดยทำให้เป็นหนังเพลงหรือมิวสิคัล เพื่อคืนความสุขและความสนุกให้กับทุกคน
เพราะเขาเชื่อว่าหนังเพลงเป็นเครื่องมือที่ดีในการถ่ายทอดสมดุลระหว่างความฝันและชีวิตจริง
La La Land ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องความรักของหนุ่มสาวเท่านั้น แต่มันยังเป็นการสดุดีเมือง LA (แอลเอ) และวงเวียนที่ศิลปินคนแล้วคนเล่าต้องเสี่ยงต่อการหัวใจสลายเพื่องานศิลปะของตัวเอง
ฉากหลังของ La La Land คือเมืองอันกว้างใหญ่แห่งนี้ ในทุกช่วงตึกเต็มไปด้วยความฝันและความทะเยอทะยาน ไม่ว่าจะเป็น คลับแจ๊ส ห้องออดิชั่น โรงหนังโรงละคร สตูดิโอถ่ายหนัง ท้องฟ้าจำลอง ฯลฯ โดยเราจะได้เห็น LA ในมุมและมุมมองที่ไม่เคยเห็นมาก่อนอีกด้วย
ฉากเปิดหนังคือฉากเต้นบนทางหลวง เราจะเห็นได้ว่า LA เป็นเมืองที่วุ่นวาย คนเยอะ และรถติดเหมือน ๆ กับกรุงเทพฯ ที่เราคุ้นเคย แต่ข้อดีคือช่วงเวลารถติดนี้เป็นช่วงเวลาที่ดีในการแนะนำให้คนดูรู้จักกับคนช่างฝันอย่างพระนางของเรื่องเสียจริง ๆ
รถหลากสีหลายยี่ห้อบนทางหลวง LA แห่งนี้ ส่วนใหญ่มีคนนั่งแค่คนหรือสองคน การอยู่ในรถจึงเหมือนการติดอยู่ในฟองอากาศส่วนตัวระหว่างรถติด บางคนก็เล่นเครื่องดนตรี บางคนก็ร้องเพลง หรือบางคนก็นั่งฝันกลางวัน คนช่างฝันแต่ละคนมีฝันต่างกัน แต่ละคนอาศัยอยู่ในท่วงทำนองของตัวเอง รวมถึง Sebastian และ Mia
ดังนั้น ชื่อเรื่อง La La Land ไม่ได้หมายถึงอารมณ์ “ลั้ลลา” ประสาดนตรีแค่นั้น แต่จริงแล้วน่าจะหมายถึงเมือง LA เมืองที่เต็มไปด้วยหนุ่มสาวศิลปินตะกายดาวผู้เปี่ยมไปด้วยความฝันอันยิ่งใหญ่
La La Land มีองค์ประกอบที่ละเอียดและเยอะกว่าหนังดราม่าปกติมาก นี่ไม่ใช่หนังที่มีแต่บทที่ดีหรือทุนที่สูงเท่านั้น แต่ยังมีดนตรี ทำนอง เนื้อเพลง การบรรเลง การเรียบเรียง การออกแบบฉาก เสื้อผ้า กล้อง การถ่ายภาพ การจัดแสง ฯลฯ ที่ซับซ้อนยุ่งยากราวกับการสร้างโลกใหม่หนึ่งใบ
นักแสดงก็ต้องไม่ใช่แค่ต้องดังหรือเก่งเท่านั้น แต่ต้องเป็นคนที่ทุ่มเทอย่างมากในการฝึกร้องเล่นเต้นระบำให้ดูเป็นนักร้องหรือนักดนตรีมืออาชีพที่สุด ซึ่ง Ryan Gosling กับ Emma Stone สุดยอดมาก ร้องเอง เต้นเอง เล่นเปียโนเองทุกช็อตโดยไม่ลิปซิงค์หรือใช้สแตนด์อิน
เราอาจจะเคยเห็น Ryan Gosling กับ Emma Stone แสดงหนังด้วยกันมาตั้งแต่ Crazy, Stupid, Love. และ Gangster Squad แต่เรื่องนี้ทั้งคู่มาเหนือเมฆ เคมีเข้ากันมาก และจัดเต็มสุด ๆ รับรองว่าไม่เคยเห็นพวกเขาแบบนี้ในหนังเรื่องอื่น ๆ มาก่อนแน่นอน
ความหล่อของ Ryan Gosling คงไม่ต้องพูดเยอะกันอยู่แล้ว แต่ความสุดยอดของเขาคือเขาเป็นนักแสดงโดยแท้จริง ผลงานหลายเรื่องที่ผ่านมา พิสูจน์ได้เลยว่าว่า เขาเล่นบทอะไรก็ได้ ดราม่า คอมมีดี้ บทโหด บทหวาน
จนถึง La La Land เขาทุ่มเททุ่มเวลาเรียนและซ้อมเปียโนแจ๊สและเรียนเต้นเป็นเดือน ๆ เพื่อให้เข้าถึงตัวละครที่เป็นนักเปียโนแจ๊สทั้งร่างกายและจิตใจ ถ้าได้ดูหนังแล้ว จะสังเกตได้เลยว่า ทุกช็อตที่พระเอกเล่นเปียโน มันคือ Ryan คนเดียวล้วน ๆ ไม่มีนักเปียโนมาแสดงแทนเลย
การแสดงและการถ่ายทอดอารมณ์ของ Emma Stone ก็ Amazing La La Land สุด ๆ เธอสามารถสื่อบางอย่างโดยไม่ใช้คำพูดผ่านทางสีหน้า การเคลื่อนไหว และภาษากาย รวมถึงสามารถสร้างตัวละคร เล่าเรื่องราวผ่านเสียงเพลงและการเต้น จะว่าไป บท Mia นี้ดูเหมือนเขียนมาให้ Emma Stone เล่นโดยเฉพาะเลยก็ว่าได้
นอกจาก Ryan Gosling และ Emma Stone แล้ว J.K. Simmons เจ้าของรางวัลออสการ์นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจาก Whiplash ก็ขโมยซีนได้ถึงแม้จะโผล่ออกมาไม่กี่นาที อย่างตอนเขาด่า Seb ว่า “not my set list!” ก็ทำให้เรานึกถึงตอนเขาตะตอก “not my tempo!” ใน Whiplash ตลอดเลย ตลกดี
นอกจากนี้ La La Land ยังได้นักร้องนักแต่งเพลงคิวทองระดับโลก เจ้าของรางวัลแกรมมี่อวอร์ดกว่าสิบสมัยอย่าง John Legend มารับบท Keith อีกต่างหาก โดยเขายังช่วยแต่งเพลง Start A Fire ในเรื่องอีกด้วย เพลงนี้เป็นเพลงที่บอกเล่าความคิดความรู้สึกของ Sebastian ในช่วงที่เขาต้องยอมทิ้งแนวดนตรีที่เขาอยากเล่นไปเล่นเพลงตลาดกับวงของ Keith เพื่อความอยู่รอดทางการเงิน
Justin Hurwitz เป็นนักแต่งเพลงคู่บุญที่ร่วมสร้างสรรค์ผลงานกับ Damien Chazelle มาตั้งแต่เขากำกับหนังเรื่องแรก ทั้งยังได้ทีมงานมากประสบการณ์และมีรางวัลด้านดนตรีมาช่วยอีกหลายคน อีกคนที่ไม่ให้เครดิตไม่ได้คือ Mandy Moore นักออกแบบท่าเต้นและครูสอนเต้นของสองพระนาง ที่ทำให้เห็นว่า ดนตรี การเต้น การแสดง การร้องเพลง และการเล่าเรื่อง สามารถผสมกันได้ออกมาสวยงามลงตัวขนาดไหน
ตั้งแต่ฉากเปิดเรื่องที่เปลี่ยนทางหลวงเป็นฟลอร์เต้นรำ เห็นได้ชัดเลยว่าการกำกับการเต้นของนักแสดงประกอบจำนวนมากกลางแจ้งแดดร้อน ๆ ในเวลาอันจำกัดนั้น มันไม่ใช่เรื่องง่ายแน่ ๆ แต่เห็นว่าพวกเขาก็สามารถถ่ายทำได้เพียงเทคเดียวผ่าน
อีกหนึ่งฉากสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความอัจฉริยะด้านออกแบบท่าเต้นของ Mandy Moore คือฉากเพลง Someone In The Crowd ที่เล่าช่วงก่อนการเดินทางไปงานปาร์ตี้ของ Mia ตั้งแต่แต่งตัวพร้อมกับรูมเมต ไปจนถึงดิ่งลงสระน้ำในแมนชั่นหรู ทั้งสี ทั้งกล้อง เสื้อผ้าและการเต้น มันลงตัวไปหมด
ฉากนี้สะท้อนถึงประเด็นที่ศิลปินหรือนักแสดงในฮอลลีวู้ดต้องเจอบ่อย ๆ นั่นคือการเลือกระหว่างงานและชีวิตสังคม (คุณจะไปปาร์ตี้หรืออยู่บ้านสร้างงานของคุณ?) แต่ในขณะเดียวกัน เพลงนี้ยังเล่าประเด็นที่ใหญ่กว่านั้นเช่นกันว่าคนคนนึงจะทุ่มให้ฝันของเขาแค่ไหน พร้อมที่จะเปลี่ยนตัวเองไหม จะยอมโอนอ่อนเพียงใด จะยอมขายวิญญาณเพื่อมันหรือเปล่า
อีกหนึ่งฉากเต้นที่ถือเป็นหัวใจของหนังเรื่องนี้คือฉากในหอดูดาว Mandy Moore สร้างการเต้น “ไร้แรงดึงดูด” ให้สองนักแสดงเต้นรำจังหวะวอลช์บนเส้นสลิง ทั้งท่วงท่าเต้นและการเคลื่อนกล้องในฉากนี้ งดงามมากจริง ๆ
แต่ฉากเต้นที่เราชอบที่สุดคือฉากร้องเพลงคู่ของพระนาง ช่วงที่ Seb เดินมาส่ง Mia ที่รถหลังงานปาร์ตี้ เพราะมันมีความโรแมนติกผสมกับความสนุก มันเป็นตอนที่ตัวละครเชื่อมถึงกันครั้งแรก มันเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทั้งสองตกหลุมรักกัน
สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของ La La Land คือผู้กำกับมีความเคารพและหยิบยืมส่วนหนึ่งจากหนังคลาสสิคในอดีตมาปัดฝุ่นใหม่ให้ร่วมสมัย ให้เข้ากับคนยุคใหม่และเข้ากับชีวิตใน LA ปัจจุบัน หรือพูดอีกแง่คือ หนังเรื่องนี้คือการผสมผสานระหว่างประเด็นทันสมัยกับรูปแบบของหนังเก่าคลาสสิค รวมถึงการใช้สี ฉาก เสื้อผ้า และองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เป็นการถ่ายทอดอารมณ์ของหนังยุคเก่า
เพื่อที่จะคุมโทนหนัง สถานที่ถ่ายทำสลับไปมาระหว่างโลเคชั่นลุคโมเดิร์นกับโลเคชั่นลุคคลาสสิค ซึ่งเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของเมือง LA และเป็นความตั้งใจของผู้กำกับที่จะเก็บความไร้กาลเวลาของเมืองนี้ลงในหนัง เขาอยากให้คนดูอย่างเรา ๆ มองไปด้านนึงแล้วรู้สึกเหมือนกำลังอยู่ในฮอลลีวู้ดยุค ’40 แต่พอหันหน้าไปอีกทางเราก็กลับมาในปี 2016 ยุคปัจจุบัน
ในขณะที่หนังจะพาเราย้อนไปยังยุคทองของฮอลลีวู้ด ตลอดทั้งเรื่อง เราจะยังได้เห็นงานสร้างที่ทันสมัย การเคลื่อนกล้องที่ลื่นไหลเพื่อให้เรารู้สึกเหมือนอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริง ๆ และการถ่ายในแบบ Widescreen ที่เพิ่มความอลังการตื่นตา เหมือนหนังฮอลลีวู้ดคลาสสิคอีกด้วย
งานภาพของ La La Land ได้แรงบันดาลใจมาจากหนัง Musical ยุคเก่า หนังมีกลิ่นย้อนยุค โดยใช้ภาพกว้าง (Widescreen) ถ่ายในอัตราส่วน 2.52 ต่อ 1 เหมือนหนังยุคเก่าๆ (ปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่ใช้ฟิลม์อัตราส่วน 2.40 ต่อ 1) เลนส์อนามอร์ฟิค 35 มม. 4 หนามเตย (ซึ่งแปลว่าเขาต้องเปลี่ยนฟิล์มทุก ๆ 10 นาที) แต่ในคราวเดียวกัน ภาพก็มีความทันสมัยด้วยการใช้อุปกรณ์และความรู้สึกแบบศตวรรษที่ 21 รวมถึงการเคลื่อนกล้องที่พริ้วไหวลื่นไหล
สไตล์การตัดต่อของ La La Land ก็แตกต่างจาก Whiplash โดยสิ้นเชิง กล่าวคือใน Whiplash มีแต่การตัดต่อแนวกระแทกกระทั้น สะท้อนถึงจังหวะของกลอง พูดให้เห็นภาพคือ Whiplash คือหนังที่มีความเหลี่ยมมุม แต่ La La Land คือหนังที่มีแต่เส้นโค้ง มีความอ่อนช้อย
สิ่งที่ชอบอีกอย่างคือภาพมีสีสันสดใส ฉุ่มฉ่ำ แม้แต่ท้องฟ้ายามราตรีก็ยังสีอ่อน สดใส ชุ่มฉ่ำ เพราะเขาใช้ไฟสีช่วยเสริมบรรยากาศให้หนังดูฉ่ำ ไม่ว่าจะเป็นสีฟ้าอ่อน เขียว หรือ ชมพู ซึ่งเรื่องของสีนี้ องค์ประกอบต่าง ๆ ของสิ่งที่อยู่ในเฟรม เช่น เสื้อผ้าตัวละคร งานโปรดักชั่นดีไซน์ ก็ล้วนมีส่วนช่วยให้ภาพสวย
ตัวละครแต่ละตัว รวมถึงฉากแบ็คกราวนด์ เช่น ผนังห้องหรือตึกรามบ้านช่อง แต่ละเฟรมล้วนมีสีสัน แต่ทุกเฟรมคุมสีสันนั้นได้อยู่ สีเยอะแต่ดูดี ทุกสีดูตัดและเข้ากันอย่างลงตัว
ดูเหมือน Mary Zophres นักออกแบบเครื่องแต่งกายที่เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ และเคยออกแบบเครื่องแต่งกายให้ No Country for Old Men, Gangster Squad, Inside Llewyn Davis, Interstella ฯลฯ ได้เอาแรงบันดาลใจแทบทั้งหมดที่เธอมีมาทุ่มให้กับ La La Land เธอมีสิทธิเข้าชิงออสการ์อีกครั้งจากผลงานเรื่องนี้
Sebastian และ Mia มีเครื่องแต่งกายเยอะมาก ถ้านับจริงจังก็คงคนละกว่า 50 ชิ้นเลยทีเดียว โดยงานคอสตูมดีไซน์ของ Mary Zophres ส่งให้คาแรกเตอร์ของ Sebastian และ Mia ชัดเจนและน่าจดจำมากขึ้น
เสื้อผ้าของ Mia หลายชิ้นมีกลิ่นวินเทจ แม้แต่เครื่องแบบบาริสต้าของเธอก็อิงจากภาพของ Ingrid Bergman นักแสดงหญิงในยุค ’40 ที่เธอชื่นชอบเป็นไอดอลของเธอ
จะสังเกตได้อีกว่า ช่วงแรก Mia จะชอบใส่เสื้อผ้าสีสันสดใส แสดงถึงความเป็นผู้หญิงในตัวเธอ เมื่อเริ่มดำเนินไป เธอเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น โฟกัสกับงานของตัวเอง เสื้อผ้าเริ่มจะโทนเข้มลง จนถึงซีนที่เธอต้องขึ้นโชว์เดียว เธอใส่เสื้อผ้าสีขาวดำ ซึ่ง Emma Stone เป็นไม้แขวนเสื้อที่ดีจริง ๆ ผู้หญิงอะไรใส่อะไรก็ขึ้น อย่างชุดสีเหลืองแปร๋น ๆ เนี่ย ถ้าไม่ใช่เธอ อาจจะใส่แล้วดูไม่จืดไปเลยด้วยซ้ำ
ส่วน Sebastian เครื่องแต่งกายมีความสง่าแต่ก็มีความเก๋านิด ๆ ชุดของเขาไม่ได้ดูทันสมัย ไม่เหมือนกับชุดที่ผู้ชายคนอื่นแต่งทั่วไป เพราะเขาเลือกใส่ชุดที่ให้เกียรติประเพณีและกาละเทศะ เช่นเดียวกับที่เขายึดติดกับเปียโนแจ๊สสไตล์ดั้งเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
ความเข้มอ่อนเป็นจุดเด่นของเครื่องแต่งกาย Sebastian เขามีตั้งแต่ชุดสูทสีน้ำตาลช่วงเปิดเรื่อง เสื้อคลุมสีฟ้าแบบสปอร์ต จนถึงชุดดำล้วนที่ใส่ตอนทัวร์คอนเสิร์ต แต่ที่เด่นที่สุดเห็นจะเป็นรองเท้าสีทูโทน ซึ่งเป็นแฟชั่นยอดฮิตในยุค ’40 ทั้งนี้ยังไม่นับรถ Buick Riviera เปิดประทุน รุ่นปี 80 ที่เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ประจำตัวของ Sebastian
Sebastian เป็นชายหนุ่มที่เทิดทูนงานศิลปะของตัวเอง อุทิศตนเพื่อเป็นนักดนตรีแจ๊สและเป็นคลับเพลงแจ๊สเป็นของตัวเอง อนุรักษ์และหวงแหนดนตรีแจ๊สแท้ ๆ (แบบออริจินัล) แต่ปัญหาคือ Sebastian ต้องอดทนและยอมแลกอะไรบ้างเพื่อให้ได้เป็นศิลปินแบบที่เขาอยากเป็น เพราะคนอย่างเขาหาได้ยากขึ้นทุกทีในโลกที่หมุนไวไปตามวัฒนธรรมเพลงป๊อปตอนนี้ ถ้าเขาเล่นเปียโนแจ๊สในบาร์… จะมีคนสักกี่คนที่หยุดฟังเขาเล่น?
พอเขาเริ่มรู้ตัวว่าความฝันของเขามันจ่ายบิลจ่ายหนี้ไม่ได้ เขาต้องยอมทำเพลงตลาดเพื่อความมั่นคงและความอยู่รอด ในขณะเดียวกัน เขาก็เลือกที่จะช่วยผลักดัน Mia ให้ได้เป็นนักแสดงมากกว่า เพราะความฝันของ Mia ดูเป็นจริงและจับต้องได้มากกว่า หรือพูดง่าย ๆ คือ ช่วยคนรักให้ทำตามความฝันของเธอมันง่ายกว่าการที่เขาจะมาวิ่งไล่ตามความฝันของตัวเขาเอง โดยเขาแนะนำให้ Mia ลองสร้างโอกาสเอง แทนที่จะรอให้คนอื่นมาอนุญาตให้เธอทำในสิ่งที่เธอรัก
เรื่องราวในหนังบอกเล่าความสัมพันธ์เป็นฤดูกาล (Seasons) ตั้งแต่ Winter, Spring, Summer, และ Fall โดยช่วง Winter ตัวละครหลักยังต่างคนต่างอยู่อย่างเหงา ๆ อยู่อย่างเศร้า ๆ ไปวัน ๆ กับความฝันลม ๆ แล้ง ๆ พอเข้าช่วง Spring ความรักของทั้งสองก็เริ่มผลิบาน ความฝันที่เคยเหมือนจะไกลเกินตัวกลับถูกจุดประกายขึ้นมา แล้วความสัมพันธ์ก็เริ่มฮอตสุด ๆ ในช่วง Summer ก่อนที่จะค่อย ๆ ร่วงหล่นลงในช่วง Fall ตามลำดับ
ธีมหรือแก่นของเรื่องราวคือความสัมพันธ์ ความฝัน ช่วงหัวเลี้ยงหัวต่อที่การตัดสินใจหนึ่งครั้งอาจจะเปลี่ยนชีวิตไปทั้งชีวิต เพราะบางครั้งความฝันเป็นพลังขับเคลื่อนอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้คนสองคนใกล้ชิดกันและอาจต้องแยกห่างจากกันด้วย
ทั้งนี้ทั้งนั้น มันก็อยู่ที่แต่ละคนว่าจะให้น้ำหนักระหว่างชีวิตและศิลปะอย่างไร จะให้น้ำหนักระหว่างชีวิตจริงกับความฝันอย่างไร และจะรักษาสมดุลระหว่างการทุ่มเทให้ศิลปะกับความสัมพันธ์กับคนที่เรารักได้หรือไม่อย่างไร
เราถึงกล้าบอกว่า ถึงแม้ La La Land จะเป็นหนังเพลงที่ดูร้องเล่นเต้นเล่นใหญ่ยิ่งกว่าหนังอินเดีย และอะไร ๆ ก็อาจจะดูเหนือจริงไปอยู่บ้าง แต่คอนเซ็ปต์และจิตวิญญาณของเรื่องราวในตัวบทนั้นทำให้มันเป็นหนังรักและหนังชีวิตที่โคตรจริงยิ่งกว่าจริง
กล่าวคือ ชีวิตจริงเราอาจสามารถพบเจอใครสักคนที่มาเปลี่ยนเราหรือมอบทางเดินให้เราไปสู่ความฝัน หรือเป็นแบบที่เราอยากจะเป็นหรือเฝ้าฝันมาตลอด แต่ท้ายที่สุด เราอาจจะต้องเดินไปตามเส้นทางนั้นเพียงลำพังโดยไม่มีเขาคนไหนอีกต่อไป หรือไม่ก็ ในทางกลับกัน ตัวเราเองอาจจะได้เจอและชี้นำให้เขาก้าวเดินในหนทางนั้น ๆ ไปตลอดชีวิต แต่เขาคนนั้นจะไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป
อืม เป็นความจริงที่ทั้งงดงามและปวดร้าวในคราวเดียวกัน
โดยสรุป La La Land เป็นหนังที่ประสมประสานลงตัวระหว่างความจริงกับความฝัน ระหว่างดนตรีกับภาพยนตร์ เพลงเขาเพราะทุกเพลง ดูไปก็กระดิกเท้าไป อยากเต้นตาม การแสดงของ Ryan Gosling และ Emma Stone ก็สุดยอดและมืออาชีพสุด ๆ เนื้อหาตัวบทก็ดี ดูแล้วปลุกแพชชั่นในตัวให้ลุกโชน สนุก ครบรส โดยเฉพาะช่วงองก์สุดท้ายพีคมาก เซอร์ไพร์สเลยแหละ คือดีเกินคาด ไม่คิดว่าจะดีขนาดนี้ ดีจนอยากจะขอถวายออสการ์ให้เลย รัก
คะแนนสรุปตามความชอบส่วนตัว 9.5/10
La La Land เปิดฉายรอบพิเศษ หลัง 20:00 น. ตั้งแต่ 29 ธันวาคม 2016 เป็นต้นไป
ฉายจริง 12 มกราคม 2017 ในโรงภาพยนตร์
108 comments
Comments are closed.