เมื่อปี 2006 เราได้เห็น Anne Hathaway ในบทเลขาฯ ต๊อกต๋อยของนางมารร้ายแห่งวงการแฟชั่นกันไปแล้วใน The Devil Wears Prada แต่ในปี 2015 นี้ เธอได้เป็นเจ้าของธุรกิจแฟชั่นออนไลน์ที่โตวันโตคืนใน The Intern โดยมีป๋าเก๋า Robert De Niro (ผู้เคยได้รับรางวัล OSCARS เช่นเดียวกันกับเธอ) มาเป็นผู้ช่วย…
“Gray is the new green!”
เรื่องย่อ The Intern
ชายวัย 70 ปี ผู้รู้สึกเบื่อหน่ายเดียวดายกับชีวิตวัยเกษียณ Ben Whittaker (Robert De Niro จาก The Godfather, Silver Linings Playbook ฯลฯ) ตัดสินใจสมัครงานในโครงการ Senior Citizen Intern ของ About the Fit บริษัทสตาร์ทอัพเกี่ยวกับธุรกิจเสื้อผ้าแฟชั่นออนไลน์ที่เติบโตเร็วที่สุดแห่งยุค
About the Fit ก่อตั้งโดยสาวสวยวัย 30 ต้นๆ Jules Ostin (Anne Hathaway จาก The Devil Wears Prada, Les Misérables, The Princess Diaries ฯลฯ) ออฟฟิศของเธอบรรยากาศชิลๆ พนักงานกว่าสองร้อยชีวิตมีแต่เด็กรุ่นใหม่ไฟแรง แต่งตัว casual แต่งานแต่ละคนต่างก็เยอะไฟลนก้นกันแทบหัวหมุน โดยเฉพาะตัว Jules เอง เพราะบริษัทเติบโตเร็วเกินไปในอายุขวบแค่ 18 เดือน จนเธอถูกบีบให้จ้าง CEO มาช่วยแบ่งเบาภาระของเธอ
เนื่องจากงานเยอะมาก บ้านของ Jules จึงมีคุณผู้ชาย Matt (Anders Holm) เป็นพ่อบ้านพ่อเรือนและดูแล Paige (JoJo Kushner) ลูกสาวตัวน้อยแทนเธอทุกอย่างที่บ้าน ซึ่ง Ben ผู้แก่ประสบการณ์คนนี้นี่เอง ที่จะเข้ามาช่วย Jules ในการบาลานซ์ชีวิต ทั้งงานที่รัก ครอบครัวที่รัก และความสุขของเธอ
รีวิว วิเคราะห์ วิจารณ์ The Intern
บอกเลยว่า The Intern เป็นหนังที่ฮามาก สนุกจริงๆ ฮาทั้งตัวบทและการแสดงของนักแสดง นักแสดงนำเล่นดีมาก (โดยเฉพาะสองดาราออสการ์) แต่ตอนแรกมันก็ฮาอยู่ดีๆ นะ ไปๆ มาๆ ทำเอาน้ำตาไหลเฉยเลย อินมากกกก ทั้งเรื่องงาน อนาคต และชีวิตคู่ ฟีลกู้ดนะ แต่ก็มีข้อคิดให้ฉุกคิดตลอดจนถึงนาทีสุดท้ายของเรื่อง ออกโรงมาจนขึ้นรถไฟฟ้าแล้วก็ยังคิดไปน้ำตาซึมไป… หนังเขามีสาระกว่าที่คิดจริงๆ…
มาดูกันว่ามีสาระอะไรกันบ้าง…
Startup
ถึงแม้ในหนัง The Intern ไม่ได้เล่าหรือแสดงให้คนดูเห็นว่า Jules Ostin สร้างบริษัทจากตัวคนเดียวมาบูมชั่วข้ามปีได้อย่างไร แต่ในหนังจะมาเล่าถึงปัญหาของเธอที่เกิดขึ้นหลังจากการประสบความสำเร็จก้าวแรกอย่างก้าวกระโดดนั้นให้เราดู
ป๋า Robert De Niro รับบทเป็น Ben Whittaker ตัวแทนของคนสูงวัยเกษียณอันแสนอับเฉา (ในเรื่องเขาอายุ 70 ปี ภรรยาเพิ่งเสียชีวิต ลูกชายก็ย้ายไปมีครอบครัวแล้ว) และมาเป็นเด็กฝึกงานในบริษัท e-commerce แห่งหนึ่งที่มีแต่หนุ่มสาววัยทำงานตอนต้น เพื่อหวังว่าชีวิตบั้นปลายของตนเองจะมีคุณค่ากับสังคมมากขึ้น (คนเราเกิดมาเพื่ออะไร?)
ส่วน Anne Hathaway เป็นตัวแทนของบอสสาวรุ่นใหม่ ซึ่งเธอก็ไม่มีประสบการณ์ทำธุรกิจ ไม่ได้จบบริหาร แต่ตัวเธอคนเดียวกลับสามารถนำพาบริษัทเติบโตจนมีลูกน้องกว่า 200 คนภายในปีครึ่ง! #ปรบมือ
นอกจากนักแสดงนำเจ้าของรางวัลออสการ์ทั้งสองคนข้างต้นแล้ว ก็ยังมีเลขาฯ Becky (Christina Scherer), Jason (Adam DeVine จาก Pitch Perfect) ฯลฯ ที่เป็นตัวแทนของลูกจ้างประจำ ฟันเฟืองเล็กๆ ในองค์กร ที่นายจ้างไม่ค่อยให้ความจริงจังในการจดจำ ทำงานไปวันๆ รับเงินเดือนเป็นเดือนๆ ทั้งที่จริงๆ แล้วตัวเองก็มีวุฒิหรือดีกรีการศึกษาที่ไม่น้อยหน้าใครในนิวยอร์กเลย
ทั้งนี้ทั้งนั้น เราชอบบรรยากาศออฟฟิศของ About the Fit ที่ให้ฟีลชิลๆ ไม่เครียด เป็นกันเอง แต่งตัวอะไรก็ได้มาทำงาน เหมือนเป็น community หนึ่งที่มีแต่เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน ทุกคนทำงานอยู่ชั้นเดียวกัน ไม่มีใครมีห้องทำงานส่วนตัว เพราะผู้นำให้ความสำคัญกับการสื่อสารและความเป็นทีมเวิร์คในทีม… แต่กว่าจะมีอะไรขนาดนี้ได้นั้น… เราเชื่อว่า Jules Ostin ต้องผ่านอะไรมาเยอะ… ทั้งแบบที่ยากและแบบที่ง่าย…
ใน Digital Era นี้ การทำธุรกิจออนไลน์ ไม่ว่าจะแบบ dot com หรือแบบขายของบน Instagram นั้นกำลังอินเทรนด์อย่างมาก ถ้าจับถูกจุด หรือไม่ก็บังเอิญฟลุ้ค จะพบว่าการสร้างตัวตนและการทำ Startup บนโลกไซเบอร์นี้ไม่ยากเลย ลงทุนก็ไม่เยอะ ทำตัวคนเดียวก็ได้ (เช่น Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง Facebook เป็นต้น)
แต่ปัญหาคือ บางครั้งอะไรๆ บนโลกออนไลน์มันก็เติบโตขึ้นเร็วเกินไป พอโตแล้ว มันก็จำเป็นที่จะต้องเป็นระบบมากขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น และจ้างคนมากขึ้น ซึ่งบางครั้งเราก็อาจจะรับมือไม่ทัน อย่างที่รู้กัน ลูกค้าก็เยอะขึ้น ลูกจ้างก็เยอะขึ้น แน่นอน…มากหมอมากความ
Generation Gap
ในหนัง The Intern ไม่ได้เน้นนำเสนอเรื่องช่องว่างหรือความแตกต่างระหว่างวัย (Generation Gap) อย่างที่เราเห็นในหน้าหนัง มีพูดถึงนิดๆ หน่อยๆ ว่านางเอกไม่ค่อยลงรอยกับแม่เท่าไหร่ ได้คุยกับแม่บ้างทางโทรศัพท์ แต่ก็เพียงฉาบฉวย
เราไม่รู้สาเหตุว่าทำไมสองแม่ลูกถึงไม่ค่อยโอเคกัน แต่เท่าที่เห็นปัญหาไม่ได้ร้ายแรงมาก น่าจะมีแค่คุณแม่วัย 70 ไม่เข้าใจว่าในงานหรือสิ่งที่ลูกสาวทำ เพราะ Jules Ostin ค่อนข้างเป็นคนหัวใหม่ เป็นสาวทันสมัย เป็นหญิงแกร่งแห่งยุค 2015 ที่แตกต่างจากผู้หญิงทั่วๆ ไปแม้แต่คนใน generation เดียวกัน
Ben Whittaker ก็เป็นชายวัย 70 ปีที่ดูไม่ได้มีปัญหากับเทคโนโลยีล้ำสมัยหรือสไตล์ใหม่ๆ ของชีวิตหนุ่มสาวสมัยนี้เท่าไหร่ ตรงกันข้าม เขาพยายามปรับตัว เรียนรู้ และฝึกใช้อะไรใหม่ๆ เหล่านั้น เช่น การอัดวิดีโอแทนจดหมายเรซูเม่ ฯลฯ โดยไม่ละทิ้งความเป็นตัวเองและข้าวของเครื่องใช้สุดวินเทจ (แม้ว่าคนรุ่นใหม่จะมองว่าล้าสมัยเฉิ่มเชยแล้วก็ตาม) เช่น เครื่องคิดเลขตั้งโต๊ะอันโต จนถึงสูทกับเนคไทที่เวรี่ formal ผิดที่ผิดทาง
Ben Whittaker เคยทำงานในตำแหน่งใหญ่โตของบริษัทตีพิมพ์ “สมุดหน้าเหลือง” ซึ่งไม่มีค่าอีกแล้วในยุคปัจจุบันที่ประชากรแทบทุกคนต่างมี Google อยู่ในมือ (โคตรจริงเลยนะ คือนร.วัยม.ต้นของเรา เขาก็ไม่รู้จักสมุดหน้าเหลืองเลยจริงๆ อะ) Ben มีประสบการณ์ทำงานด้านธุรกิจมากว่า 40 ปี แต่เขาไม่เคยทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้วหรือทำตัวประหนึ่งว่าเหนือกว่าเด็กๆ ในที่ทำงาน ตรงกันข้ามเขากลับวางตัวเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดี ทั้งเรียนรู้และสอนงานคนอื่นๆ ไปด้วยกัน
ณ จุดนี้ หนังทำได้ดีในพาร์ทของ Ben Whittaker ที่ดู enjoy กับการปรับตัวกลมกลืนเข้ากับโลกโมเดิร์น แต่แอบเสียดายที่ไม่มีการเอาประโยชน์ของข้าวของเครื่องใช้สุดวินเทจนั้นมาเล่นด้วย และพาร์ทกุ๊กกิ๊กของเขากับ Fiona (Rene Russo จาก Thor) ก็ยังดูขาดๆ เกินๆ และไม่มีความจำเป็นต่อเส้นเรื่องสักเท่าไหร่ – หักคะแนนก็ตรงนี้…
Sexist Stereotyping
ดูเหมือน Nancy Meyers ผู้กำกับและคนเขียนบท The Intern พยายามทำหนังรอมคอมนำเสนอปัญหาของชนชั้นกลางจนถึงชนชั้นสูงมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ What Women Want , Something’s Gotta Give , The Holiday, และ It’s Complicated
พอมาถึง The Intern เธอก็เลือกตีแผ่ประเด็น Sexism ซึ่งกำลังอินเทรนด์อย่างมากในสังคมปัจจุบัน และดูเหมือนว่าประเด็นนี้จะเป็นประเด็นที่เป็นแก่นสาระสำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ จนนี่ก็อดคิดไม่ได้ว่า Jules Ostin นางเอกของเรื่องได้ชื่อล้อมาจาก Jane Austen นักเขียน Feminist คนดังในอดีต
ในหนัง เราจะเห็นว่า Jules Ostin เป็นบอสสาวเก๋ไก๋ ทำงานตัวเป็นเกลียวหัวเป็นน็อตจนแทบไม่มีเวลากินข้าวเป็นมื้อเป็นจาน ทุกนาทีของเธอมีค่าและทุ่มให้กับงานๆๆ ดังนั้น Matt สามีของเธอต้องลาออกจากงานประจำทั้งที่ก็กำลังไปได้สวยในหน้าที่การงาน เพื่อมาเป็นพ่อบ้านฟูลไทม์ (stay-home husband) ดูแลงานบ้านงานเรือนและลูกสาววัยอนุบาลตัวน้อย
เราไม่แปลกใจเลย ถ้าเวลาที่กองทัพผู้ปกครองไปรับส่งลูกที่โรงเรียนหรือไปอีเวนต์หรือกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับลูก Matt จะเป็นมนุษย์พ่อเพียงหนึ่งเดียวในกลุ่มชมรมแม่บ้าน แต่ดูเหมือนว่ามนุษย์แม่ (หรือควรจะเรียกว่ามนุษย์ป้าดึกดำบรรพ์) ของเด็กคนอื่นจะมองว่าครอบครัวนี้แปลก และชอบแซะกระแนะกระแหน Jules อย่างนั้นอย่างนี้ ทั้งๆ ที่ Jules เก่งจะตาย ดีไม่ดี ทำงานเก่งและหาเงินได้เยอะกว่าสามีของพวกหล่อนรวมกันซะอีก #สะบัดบ๊อบ
นี่มันยุค 2015 แล้ว นี่ไม่ใช่ยุคปิตุลาธิปไตยแล้ว ดังนั้นมันไม่จำเป็นว่าผู้หญิงต้องลาออกจากงานมาเป็นแม่บ้านแล้วให้ผู้ชายเป็นฝ่ายทำมาหากินฝ่ายเดียวเสมอไป ผู้หญิงก็ทำธุรกิจได้ดีไม่แพ้ผู้ชาย ผู้ชายก็เป็นพ่อบ้านได้ดีไม่แพ้ผู้หญิง ทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกันโดยเท่าเทียม เราไม่ควรมีข้อจำกัดเรื่องเพศมาเป็นตัวแบ่งว่าอันไหนทำได้ อันไหนทำไม่ได้ เพศไม่ควรเอามาเป็นปัจจัยในการกำหนดภาระหน้าที่ของมนุษยชาติ แม้แต่ในระดับครัวเรือน
การเป็นผู้นำขององค์กรก็เช่นกัน เราไม่รู้หรอกนะว่า Cameron (Andrew Rannells) เขาจะบีบคั้นให้ Jules ยอมจ้าง CEO มาทำไม เพราะอยากหาคนมาแบ่งเบาภาระ Jules จริงๆ หรอ หรือเห็นว่า Jules ไม่มีประสบการณ์การทำธุรกิจ ไม่จบบริหาร (ซึ่งจริงๆ ให้ไปเทคคอร์สสักคอร์สก็จบ) หรือเพราะเห็นว่า Jules เป็น “แค่ผู้หญิง” กันแน่
Leadership
เท่าที่เราเข้าใจ ในเรื่องนั้น จริงๆ Cameron ก็หวังดี… เขาจัดแจงจ้างผู้อาวุโสเก๋าประสบการณ์อย่าง Ben Whittaker มาเป็นผู้ช่วยส่วนตัวฝึกหัดของ Jules เพราะอยากให้ “ภาพลักษณ์” ของ Jules ดีขึ้น (อืม… เพื่อแค่นั้นแหละ)
ทั้งในส่วนที่ Cameron ให้หา CEO มาช่วยการบริหาร และจัด Senior Assistance Intern มาช่วยเสริมอิมเมจให้ บ่งบอกให้เห็นว่า ถึงแม้ Cameron จะเชื่อใจในฝีมือและรสนิยมด้านแฟชั่นของเธอแค่ไหน แต่สุดท้ายก็ยังมีความไม่มั่นใจในความสามารถการบริหารและการจัดการทางอารมณ์ของบอสสาวอยู่ดี
เราไม่ได้บอกว่า Cameron ทำไม่ถูกไม่ควร เพราะเรารู้ว่าทุกคนต่างก็หวังดีต่อองค์กรและพยายามแก้ไขในวิธีของตนเอง แต่เราก็เข้าใจและเห็นด้วยกับ Jules ว่า เธอสร้างบริษัทนี้มาเองกับมือ…ตัวคนเดียว…ทุกๆ อย่างในแบรนด์นี้มันเป็น “ตัวเธอ”… แบรนด์เป็นส่วนหนึ่งของเธอ เธอเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์… และแน่นอน… เธอไม่ชินกับการเป็นลูกน้องใคร
ในเบื้องต้น Jules อาจจะไม่ใช่ผู้นำที่เพอร์เฟ็คต์ ใครๆ ก็บอกว่าเธอเข้าใจยากและทำงานด้วยยาก และไม่ค่อยแสดงความ appreciate ในสิ่งที่ลูกน้อง โดยเฉพาะ Becky เลขาฯ ทำให้ – แหงสิ… ก็เธอไม่มีประสบการณ์การบริหาร และเริ่มต้นทำธุรกิจนี้มาจากตัวเธอคนเดียวล้วนๆ ไม่ใช่หรอ เราควรเข้าใจเธอ ณ จุดจุดนี้บ้าง จริงมั้ย
อย่างไรก็ดี Jules ก็เป็นผู้นำที่ดีในแบบของเธอ อย่างน้อยเธอก็มีความรักในสิ่งที่เธอทำมากกว่าคนอื่น ใส่ใจในทุกๆ รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ โดยธรรมชาติของเธอเอง ไม่ต้องให้ใครสั่งใครสอน ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ตำราแพงๆ หรือหลักสูตรใดใดของมหาวิทยาลัยอาจจะสอนนักบริหารทั่วไปไม่ได้เสียด้วยซ้ำ
บางทีเราอาจจะต้องยอมรับว่า องค์กรนี้ได้ดีเพราะเธอบริหารในแบบของเธอ แบรนด์คือเธอ เธอคือแบรนด์ และที่สำคัญ เราเชื่อว่า แต่ละองค์กรสามารถประสบความสำเร็จได้โดยไม่จำเป็นต้องดำเนินตามสูตรสำเร็จเก่าๆ ทุกขั้นตอน
ดังนั้น เรื่องเพศไม่ใช่ปัญหา ปัญหาอยู่ที่ทัศนคติของคนในสังคม ถ้าให้โอกาสหรือให้เวลาเธอได้เรียนรู้ ปรับตัว และเข้าใจเธอ รับประกันได้เลยว่า วันนึง Jules จะเป็นทั้งผู้นำที่เพอร์เฟ็คต์ รวมถึงเป็นแม่และเมียที่เพอร์เฟ็คต์ของครอบครัวที่เธอรักได้
คุณเองก็เช่นกัน…
Work–Life Balance
ปัญหาของ Jules อาจจะเป็น Work-life balance อย่างที่เราเห็นกันในหนัง เพราะบริษัท About the Fit เติบโตอย่างก้าวกระโดดเหนือความคาดหมายชนิดที่เธอเองก็ตั้งตัวแทบไม่ทัน
ทั้งชีวิต Jules ก็คงเป็นแค่ผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง ที่สังคมหล่อหลอมแบบบ้านๆ ให้เรียนหนังสือควบคู่กับงานบ้านงานครัว เรียนจบไปก็ทำงานพอหอมปากหอมคอ หาแฟนแต่งงานมีลูกแล้วก็ออกจากงานมาอยู่บ้าน บลาๆๆ คือเธอคงไม่ได้ถูกเตรียมพร้อมมาให้โตมาเป็นทั้งผู้นำหญิงขององค์กรและผู้นำหญิงของบ้านไปพร้อมๆ กันแบบนี้ ดังนั้นอะไรๆ มันก็เลยต้องมีการติดขัดกันบ้าง
ถึงแม้จะแต่งงานมีลูกมีสามี และมีบริษัทเป็นของตัวเองแล้วก็ตาม Jules เองก็ยังเป็นคนคนหนึ่ง เหมือนเรา เหมือนคุณ ที่ยังคงละเอียดอ่อนและหวาดกลัวกับ insecurities ในอนาคต (ตามธรรมชาติมนุษย์ ไม่เกี่ยวกับเพศภาวะ) แต่แน่นอน… ด้วยอะไรๆ ที่ค้ำบ่าเธออยู่ เธอก็เลยจำเป็นต้องพยายามเป็นคนเข้มแข็ง ไม่ร้องไห้หรืออ่อนแอให้ลูกน้องเห็นโดยเด็ดขาด เหนื่อยแค่ไหน คิดดู
โชคดีที่ Ben เข้ามาในชีวิตของเธอพอดี ถึงแม้ตอนแรกเธอจะไม่ค่อยเต็มใจเท่าไหร่ เพราะเธอคงชินกับการทำงานคนเดียว และไม่ค่อยคุ้นที่จะอยู่กับผู้ใหญ่ แต่สุดท้ายแล้ว ในที่สุด Ben ก็กลายมาเป็นทั้งลูกจ้าง เพื่อนร่วมงาน และเพื่อนสนิทที่ดีที่สุดของเธอ… ซึ่งประสบการณ์ของ Ben ไม่ใช่แค่ให้คำปรึกษาในเรื่องงานบริษัทได้เท่านั้น แต่ยังช่วยได้มากในเรื่องชีวิตครอบครัวและความสุขส่วนตัวของ Jules
อย่างน้อย Ben ก็ทำให้ Jules อุ่นใจว่า… ในชีวิตอันไม่แน่ไม่นอน …ทั้งเรื่องงานและเรื่องครอบครัวนั้น… ถึงวันที่เธอตายไป เธอก็จะไม่ได้ถูกฝังอยู่คนเดียวอยู่คนเดียว…
(แหม นั่นแหละ เพราะไม่ว่าจะเก่งแค่ไหน อายุเท่าไหร่ หรือมีผัวหรือยัง ทุกคนก็กลัว insecurities กันทั้งนั้น จริงมั้ย)
โดยสรุป The Intern หนังเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิงแกร่งวัยทำงานตอนต้น ที่ต้องประสบปัญหาในการบาลานซ์ระหว่างงานที่รักและครอบครัวที่เลิฟ สนุกนะ คะแนนตามความชอบส่วนตัวให้ 8.5/10
เชียร์ให้ดู หนังฉายแล้วในโรงภาพยนตร์ ตั้งแต่ 15 ต.ค. 2015 เป็นต้นไป
ป.ล. พระเอก Paper Towns ก็มาเป็นดารารับเชิญด้วยนะเออ น่ารักมากกกกก
42 comments