เราเป็นคนหนึ่งที่ไม่ชอบหนังมิวสิคัลและหนังแฟนตาซี แต่พอได้เปิดใจไปดู Wicked (Part I) แล้วก็ออกมาถามตัวเองซ้ำ ๆ ว่า กูไปอยู่ไหนมา ทำไมไม่เคยดู เคยอ่าน หรือเคยทำความรู้จักเรื่อง The Wizard of Oz และละครบรอดเวย์ Wicked เพราะเนื้อแท้ข้างใน มันมีเมสเซจที่ดีและเป็นผู้ใหญ่มาก ทั้งเรื่องโลกนี้ไม่มีขาวไม่มีดำ การยอมรับตัวตน การตัดสินและ discrimination จนไปถึงอำนาจ facist การเมืองการปกครอง คอร์รัปชั่น ฯลฯ
Wicked ที่หน้าหนังดูมีความสีสันและความแฟนตาซี ก็เหมือนช็อกโกแล็ตรสขมฉาบเคลือบด้วยน้ำตาลสีฉูดฉาด จึงเป็นหนังที่ย้ำเตือนเราว่า Don’t judge a book by its cover หรืออย่าตัดสินใครโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ายังไม่ได้รู้จักเขาจริง ๆ หนังชี้ให้เห็นว่า คนเราอาจเกิดมารูปร่างหน้าตาแตกต่างกัน แต่เมื่อเราเติบโตขึ้น ตัวตนของเราจะค่อย ๆ ถูกหล่อหลอมโดยบริบทสังคมและการถูกปฏิบัติจากผู้อื่นนั่นเอง
“You’re not being told the whole story!”
ถึงแม้เราจะไม่คุ้นเคยกับสตอรี่ของ Wicked และไม่ใช่แฟนมิวสิคัล แต่ Wicked ภายใต้ branding เขียว-ชมพูและการกำกับของ Jon M. Chu (จาก Crazy Rich Asians) ก็ให้ความบันเทิงและประสบการณ์การดูหนังอย่างน่าประทับใจ ทั้งงานโปรดักชั่นตระการตา เสื้อผ้าหน้าผม การแสดง โดยเฉพาะ Ariana Grande ที่เล่นเป็น Barbie x Mean Girls จริตลูกสาวกะเทยได้ใจมาก
เรื่องราวของ Wicked (Part I) ให้บรรยากาศคล้าย Harry Potter เพราะส่วนใหญ่เรื่องเกิดที่ Shiz University ที่ที่สาวป็อปปูล่าร์ Galinda (Ariana Grande) คาดหวังจะได้เข้าเอกเวทมนตร์และเรียนคลาสส่วนตัวกับแม่มดชื่อดัง Madame Morrible (Michelle Yeoh) แต่ถูก Elphaba (Cynthia Erivo) ปาดหน้าเค้กไป
นอกจาก ประเด็นที่ Elphaba ถูก discriminate เพราะเธอเกิดมาตัวสีเขียว และความสัมพันธ์ frenemy ของพวกเธอแล้ว ยังมีเรื่องราวรักสามเส้า (แต่ไม่น้ำเน่า) ของสองรูมเมตสาวกับเจ้าชาย Fiyero (Jonathan Bailey จาก Bridgerton) และก็มีคู่รองที่ถือเป็นตัวละครชายขอบอย่าง Boq (Ethan Slater) หนุ่มมัชกิ้นแลนด์ และ Nessarose (Marissa Bode) น้องสาวของ Elphaba ที่ต้องนั่งรถเข็นวีลแชร์ (แต่ก็ยังมีพริวิลเลจจากการเป็นลูกสาวผู้ว่าฯ) ที่ต้องติดตามบทสรุปความลงเอยของแต่ละคู่กันในภาคหน้า… ปีหน้า…
ในเวลา 2 ชั่วโมง 40 นาทีของพาร์ทนี้ หนังยังเน้นอยู่แค่การปูความสัมพันธ์และการฝึกใช้พลังของ Elphaba และเกริ่นถึงประเด็นการเมืองการปกครองเพียงเล็กน้อยผ่านตัวละครศาสตราจารย์แพะ Dillamond (Peter Dinklage) ที่เป็นสัตว์รุ่นสุดท้ายที่ได้มีพื้นที่ยืนในสังคม ในขณะที่สัตว์ต่าง ๆ กำลังถูกไล่ล่า สาปสูญ จับเข้ากรงขัง และถูกทำให้ไม่ให้พูด ซึ่งคาดเดาได้ไม่ยากว่า ผู้นำประเทศที่ผู้คนบูชาอย่างพ่อมด Oz (Jeff Goldblum) ต้องอยู่เบื้องหลังกระบวนการนี้ และในพาร์ทนี้ เขาเพิ่งได้มีบทบาทเพียงเล็กน้อยในช่วงท้ายเท่านั้น ดังนั้น สิ่งที่เราคาดหวังมากขึ้นในพาร์ทหน้าก็คือ ความเข้มข้นของประเด็นเรื่องการเมืองการปกครองนี่แหละ