การกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ในรอบ 36 ปี
Top Gun: Maverick (2022) ห่างจาก Top Gun ภาคแรก (1986) ถึง 36 ปี ผู้หมวด Pete “Maverick” Mitchell (Tom Cruise จาก Mission Impossible) กลับมาอีกครั้ง เป็นกัปตัน Maverick (ใช่ค่ะ… เป็นถึงนักบินในตำนาน แต่ยังเป็นได้เพียงแค่กัปตัน ในขณะที่เพื่อนร่วมรุ่นอย่าง Iceman (Val Kilmer) และคนอื่น ๆ เป็นระดับนายพลกันหมดแล้ว)
กัปตัน Maverick ถูกเรียกตัวกลับมา Top Gun ในฐานะครูฝึก เพื่อสอนนักเรียนการบินหัวกะทิรุ่นใหม่ให้พร้อมสำหรับภารกิจ Mission Impossible ใน 3 สัปดาห์ หนึ่งในนักเรียนของเขาคือ Bradley “Rooster” Bradshaw (Miles Teller จาก Whiplash) ลูกชายของ Goose (Anthony Edwards) คู่หูคู่ซี้ของเขาที่เสียชีวิตขณะฝึกบินกับเขาในหนังภาคแรก ซึ่งปมของคู่นี้เป็นปมสำคัญของเรื่อง และก็ยังมี Hangman (Glen Powell) ที่เป็น The Best of The Best และมีนิสัยจองหอง เสมือนเป็นตัวแทนของ Maverick เองกับ Iceman ในสมัยยังเป็นนักเรียน และนี่คือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวของคนสองเจนเนอเรชั่นที่แตกต่าง
พื้นที่ของผู้หญิงในโลกของนักบิน
ในภาคนี้ ไร้ทั้งชื่อและเงาของนางเอกคนเก่า อย่าง Charlie (Kelly McGillis) ส่วนแม่ของ Rooster หรือภรรยาของ Goose (Meg Ryan) ก็โผล่มาแค่การเอ่ยถึงอย่างเบา ๆ
นางเอกคนใหม่ของกัปตัน Maverick ในภาคนี้คือ Penny Benjamin (Jennifer Connelly จาก A Beautiful Mind) คุณแม่ลูกติดและเจ้าของบาร์ ที่ในภาคแรก โผล่มาแค่ชื่อประปรายว่าเป็นลูกสาวนายพลที่พระเอกของเราเคยไปจีบ ๆ
ซึ่งก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ฮอลลีวู้ดยุคเก่ายังมีค่านิยมว่านางเอกต้องสวยเช้งตั้งแต่เด็กยันแก่อยู่ (เช่นเดียวกับ Tom Cruise ที่ยังไม่ยอมแก่) และไม่ส่งเสริมภาพลักษณ์ของนางเอกวัยกลางคนหรือวัยใกล้ชราที่โรยราตามวัยที่ควรจะเป็น
ส่วนผู้หญิงในแก๊งนักบิน ยังมีจำนวน 1 คนเท่าเดิม คือ Phoenix (Monica Barbaro) แต่ดีกว่า Charlie ในภาคแรก “นิดนึง” ตรงที่ ไม่ได้เป็นแค่พลเรือน แต่ทว่าได้เป็นนักบินที่บินจริง ๆ
พื้นที่ของมนุษย์ในโลกของการบิน
นอกจากนี้ หนังยังมีการเล่นประเด็นตั้งแต่เปิดเรื่องเกี่ยวกับ “The future is coming. And you’re not in it.” หรือความไม่จำเป็นของนักบินในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีอย่างโดรนกำลังเข้ามาแทนที่ แล้วในหนังตลอดเรื่อง เขาก็พยายามทำให้เราเห็นความสำคัญของ “คนขับเครื่องบิน” และ “สัญชาตญาณ” ว่ามันสำคัญอย่างไร ไม่ว่าเครื่องบินจะไฮเทคล้ำเลิศหรือเก่าแก่โบราณคร่ำครึแค่ไหน สิ่งที่สำคัญเหนือกว่าและสร้างความแตกต่างได้จริง ๆ คือคนที่ขับมันต่างหาก สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของ Top Gun: Maverick จึงไม่ใช่เครื่องบิน หากแต่เป็น “นักบิน” หรือ “มนุษย์” ที่ขับมัน
ปกติหนังแอ็คชั่นส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับความมีชีวิตหรือความเป็นมนุษย์มากนัก แต่ Top Gun: Maverick ทำออกมาได้ยอดเยี่ยมอย่างน่าประทับใจ โดยเฉพาะสำหรับคนที่เคยดูภาคแรกมาก่อน เพราะนอกจากหนังจะพยายามร่วมสมัยแล้ว หนังยังมีความเคารพความคลาสสิกของหนังยุคก่อนและเชื่อมโยงกับภาคเก่าอย่างกลมกลืน เช่น ไดอะล็อกหลายประโยคที่นำมาใช้ซ้ำ, การกลับมาบอกลาบทบาท Iceman ของนักแสดงตัวจริงซึ่งเขาเองก็ป่วยเป็นมะเร็งจนแทบพูดไม่ได้, และความสัมพันธ์ของ Maverick กับลูกของ Goose (ซึ่งถึงแม้ว่า ถ้านับตามเวลาจริง ๆ แล้ว Miles Teller จะดูเด็กกว่าจะเป็นลูกของ Goose จริง ๆ ได้ก็ตาม) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คนที่ไม่เคยดูภาคแรกมาก่อนก็ดูภาคนี้รู้เรื่องและยังอินตามได้แน่นอน
ระดับ ทอม ครูซ ต้องเครื่องบินจริง บินจริงเท่านั้น
เครื่องบินหลัก ๆ ในภาคนี้อาจเป็น F-18 แต่ Tom Cruise ก็ยังพยายามหาซีนให้อดีตเครื่องบินคู่บุญอย่าง F-14 ได้กลับมาเฉิดฉายบนจออีกครั้ง โดยทั้งเรื่อง Tom Cruise ก็ใช้การบินจริง เครื่องบินจริง ทั้งเรื่องตามที่เขายืนกราน มีแต่ F-14 เท่านั้นที่ต้องพึ่ง CGI เพราะอเมริกายกเลิก F-14 ไปตั้งแต่ปี 2006 แล้ว ซึ่งผลที่ออกมา ประกอบกับเทคนิคงานภาพและเสียง ก็คือ Top Gun: Maverick จัดเป็นหนังแอ็คชั่นเครื่องบินที่สมจริงและบีบกะโหลกคนดูที่สุดเท่าที่เคยดูมา
ระดับ Top Gun ต้อง IMAX เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ระดับความสมจริงและภาวะบีบกะโหลกก็มีขีดจำกัดหากเราไม่ได้ดู Top Gun: Maverick ในโรง IMAX (หนังมีฉายในระบบ IMAX แต่ไม่ใช่ 3D ที่ใส่แว่นนะคะ) เพราะผู้กำกับอย่าง Joseph Kosinski (จาก Only the Brave) เลือกถ่ายทำด้วยกล้อง Sony Venice 6K full-frame สำหรับ IMAX โดยเฉพาะตลอดเรื่อง แล้วยังเป็นกล้องที่พัฒนาเป็นพิเศษเพื่อถ่ายฉากใน cockpit (ห้องนักบิน) โดยเฉพาะ ถ้าเราดูเรื่องนี้บนจอ IMAX เราก็จะเห็นสัดส่วนภาพเต็มมากกว่าจอโรงปกติถึง 26%
เพราะฉะนั้น ถ้ารอดู Top Gun: Maverick แต่กับจอทีวี จอคอมฯ หรือจอไอแพด อะไรพวกนี้ คือบาปมาก! (พูดให้เห็นภาพก็คือ ฟีลลิ่งเหมือนเราเห็นเครื่องบินใหญ่ ๆ ที่สนามบินกับตา กับเห็นเครื่องบินบินเป็นชิ้นเล็ก ๆ ลอยอยู่บนฟ้าอันไกลโพ้น)
สรุป ต้องดู!
ในขณะที่หนังภาคต่อส่วนใหญ่มักแย่กว่าหนังภาคแรกที่สร้างชื่อ แต่สำหรับ Top Gun: Maverick นั้นตรงกันข้าม Top Gun: Maverick เป็นหนังภาคต่อที่ยอดเยี่ยม เชื่อมความคลาสสิกของยุคเก่ากับยุคใหม่อย่างลงตัว (ทั้งความเป็นหนังแต่ละยุค และความเป็นคนแต่ละรุ่น)
หนังทำได้ดีมาก ๆ ทั้งในพาร์ทมนุษย์และในพาร์ทเครื่องบิน หนังมีบทที่วางมาอย่างดี และเรื่องราวในตัวมันเอง คนที่ไม่เคยดูภาคแรกมาก่อนก็ดูรู้เรื่องแน่นอน 100% แต่คนที่เคยดูภาคแรกมาก่อนอาจอินมากกว่าเพราะมีความผูกพันกับความสัมพันธ์ตัวละครมากกว่า
ฉากแอ็คชั่นบนเครื่องบินในภาคนี้ก็มีจุใจและทำได้ระทึกเสียวโคตรมากกว่าภาคแรก (ส่วนหนึ่งอาจเพราะเราได้ชมภาคนี้บนจอใหญ่ด้วย และจริง ๆ แล้ว ภาคแรกในยุคนั้น มันก็ว้าวในตัวมันเอง ณ เวลานั้นด้วยเช่นกันแหละ) ซึ่งเราแนะนำว่า มันต้อง IMAX เท่านั้น
10 comments
Comments are closed.