เรื่องย่อ The Flash
ในหนังเดี่ยว The Flash ของ DC นี้ เราได้รู้จักกับ Barry หรือ The Flash (Ezra Miller) มากขึ้น เราพบว่าเขากำลังเบื่อหน่ายและสิ้นหวังกับแทบทุกทางในชีวิต ตั้งแต่งานประจำที่กองพิสูจน์หลักฐาน, งานพาร์ทไทม์กับ Justice League ที่เขารู้สึกว่าเขาเหมือนเป็นภารโรงของเดอะแก๊งมากกว่าเป็นฮีโร่จริง ๆ, และความพยายามในการช่วยพ่อ (Ron Livingston) ให้พ้นจากคดีฆ่าภรรยาของเขาหรือแม่ของ Barry เอง (Maribel Verdú) ซึ่งเป็นปมในใจที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตของเขา และยังบังเอิญกลับมาเจอกับ Iris West (Kiersey Clemons) กิ๊กเก่าสมัยเรียนในวันที่เขารู้สึกแย่ที่สุดอีก
Barry ผู้แหลกเหลว เช่นเดียวกับ Dorctor Strange (Benedict Cumberbatch), Peter Parker (Tom Holland), หรือ Marty McFly ใน Back to the Future พยายามหาทางย้อนเวลาไปแก้ไขอดีตหรือความผิดพลาดของตัวเอง ถึงแม้ว่าฮีโร่รุ่นพี่ผู้เคยผ่านพบความสูญเสียมาไม่แพ้กันอย่าง Bruce Wayne หรือ Batman (Ben Affleck) จะห้ามแล้วก็ตาม Barry ก็ยังตัดสินใจวิ่งด้วยความเร็วสูงเพื่อเดินทางกลับไปในวันที่แม่ถูกฆาตกรรมและปกป้องแม่ไว้ได้สำเร็จ แต่ขากลับเขาดันหลุดไปติดอยู่ในอดีตอีกยุคหนึ่งและมาเจอกับตัวเองในวัย 18 ปี ซึ่งมีคาแรกเตอร์แทบจะตรงข้ามกับเขาโดยสิ้นเชิง
แล้วทั้งสอง Barry ดันเกิดอุบัติเหตุ ทำให้ Barry วัย 18 ได้พลัง The Flash ในขณะที่ Barry Original ต้องสูญเสียพลังนั้นไป ประจวบกับ General Zod (Michael Shannon) วายร้ายเอเลี่ยนจากเรื่อง Man of Steel หรือ Superman มาบุกโลกพอดี พวกเขาจึงต้องไปขอความช่วยเหลือจาก Bruce Wayne ซึ่งในจักรวาลนี้ ดันเป็น Bruce Wayne คนละคนกับที่ Barry รู้จัก และในจักรวาลนี้ก็ไม่มีฮีโร่คนอื่น ๆ อยู่เลย เขาจึงรู้ตัวว่า เขาได้สร้างความยุ่งเหยิงให้กับระบบจักรวาลไปแล้วสิ้น
(หนังมี post-credit scene 1 ฉาก แต่ไม่ได้มีอะไรมาก ยกเว้นคุณเป็นแฟนคลับของหนึ่งในฮีโร่ของ Justice League หรือนักแสดงคนที่เป็นฮีโร่คนนั้น)

รีวิว The Flash และมัลติเวิร์สของเขา
สำหรับเรา หนังเรื่องนี้ไม่ได้แย่เลย ค่อนไปทางดีมากเสียด้วยซ้ำ แต่หนังแค่มาช้าไปหน่อย (เข้าฉายช้ากว่ากำหนดเดิมหลายปีด้วยเหตุผลต่าง ๆ ที่ไม่ใช่แค่ COVID-19) แล้วช่วงที่ผ่านมานี้ มันมีหนังหลายเรื่องที่เล่นประเด็น Multiverse ตั้งแต่ Doctor Strange: The Multiverse of Madness, What If…?, Spider-Man: No Way Home, Spider-Man: Into the Spider-Verse, และ หนังออสการ์อย่าง Everything Everywhere All At Once ซึ่งสองเรื่องหลัง ได้เล่าเรื่อง Multiverse ไว้ดีมากอยู่แล้ว
แต่ถึงแม้ The Flash จะไม่ได้เป็นเรื่องแรก ๆ ของฮอลลีวู้ดที่พยายามเล่าทฤษฎีการย้อนเวลาแบบใหม่ ที่ว่าเวลาไม่ใช่เส้นตรง หรือแนวคิดที่แตกต่างจาก Grandfather Paradox ของเรื่อง BTTF แต่เราก็ยังรู้สึกว่าหนังยังทำออกมาได้ดี ด้วยบทที่พาเราไปผูกพันและดำดิ่งกับก้นบึ้งของตัวละครหลักอย่าง Barry Allen จนเราต้องรักและเอาใจช่วย อย่างเรื่องนี้ หนังเปิดเรื่องมาเป็นฉาก Barry ต้องไปทำภารกิจช่วยชีวิตคนจากตึกถล่ม ทั้งที่กำลังหิวโหยอาหารเช้าและรีบไปทำงานในชั่วโมงเร่งด่วน ซึ่งปุถุชนทั่วไปหลายคนจะรู้สึกตัวเองมีส่วนร่วม ประกอบกับฉากอารมณ์ขัน ที่จะทำให้คนดูเริ่มรู้สึกเปิดใจและพร้อมปักใจเชียร์ฮีโร่คนนี้
ฉากสโลว์โมชั่นในเรื่องนี้อาจจะยังไม่สามารถโค่นฉากอันน่าจดจำของพี่ใหญ่ Quicksilver (Evan Peters) ที่ทำไว้ก่อนหน้านี้ใน X-Men: Days of Future Past ได้ แต่ CG ของ The Flash ในฉากวิ่งย้อนเวลาผ่านห้วงความทรงจำของ Barry ก็มีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์ บ่งบอกตัวตนที่แตกต่างหรือสิ่งที่อยู่ในหัวของ Barry ได้ดีกว่าการใช้ภาพ Flashback หรือภาพแบบการเล่าเรื่องในภาวะปกติ (คล้าย ๆ กับในแอนิเมชั่นเรื่อง Inside Out ที่ภาพในหัวของแต่ละคนจะแตกต่างกัน)
อีกสิ่งที่บ่งชี้ชัดเจนว่า The Flash เป็นหนังที่เน้นดราม่าตัวตนและปมของฮีโร่มากกว่าภารกิจกู้โลกกู้จักรวาลหรือฉากแอ็คชั่นคือการออกแบบตัวละคร Barry ทั้งสองคน โดย Barry ในจักรวาลใหม่ ไม่ใช่แค่เด็กกว่าเท่านั้น แต่ยังเป็น Barry ที่เติบโตมาในครอบครัวที่อบอุ่น พร้อมหน้าพร้อมตาพ่อแม่ลูก ไม่ต้องเจอดราม่าแบบที่ Barry Original เคยเจอ ทำให้เป็น Barry เวอร์ชั่นเด็กมหา’ลัยที่ติดเล่น ติดตลก มีเพื่อนมีสังคม เนิร์ดน้อยกว่า และอาจจะไม่ได้จับพลัดจับผลูไปรับพลังสายฟ้าฟาดในแล็บจนเป็นฮีโร่ The Flash ที่โลกรู้จักแต่แรกเลยก็ได้ ต่างจาก Barry Original, Peter Parker, และฮีโร่อีกหลาย ๆ คนที่มีคาแรกเตอร์ที่แตกต่างจากคนทั่วไป และมักถือกำเนิดขึ้นจากความเจ็บปวดหรือปมในใจ
Ezra Miller เป็นนักแสดงที่มีคาแรกเตอร์ชัดเจนและฝีมือการแสดงดีมากมาแต่ไหนแต่ไร ปฏิเสธไม่ได้ว่า เขาถ่ายทอดความเป็น Barry Allen ทั้งสองเวอร์ชั่นนี้ได้อย่างยอดเยี่ยมไร้รอยต่อจริง ๆ เพียงแต่คนดูอาจไม่สามารถรักและเทให้เขาได้สุดหัวใจอีกต่อไปแล้ว หลังจากที่เขาได้ก่อคดีและทำพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ไว้มากมายในช่วง post-production หรือระหว่างปีสองปีที่ผ่านมา
นอกจากการแสดงที่โดดเด่นจนน่าเสียดายของ Ezra Miller แล้ว อีกจุดชูโรงที่สำคัญคือ การเปิดตัว Kara Zor-El หรือ Supergirl (Sasha Calle) ที่มาแทน Superman ในจักรวาลนี้ และการกลับมาของนักแสดงออสการ์ Michael Keaton กับบทบาท Batman ในวัย 70 ปี ซึ่งยังคงแข็งแรงและบู๊เท่สนั่นเหมือนสมัยที่เล่น Batman (1989) และ Batman Returns (1992) ของจักรวาล Tim Burton
The Flash ไม่ใช่หนังใหม่เรื่องแรก ๆ ที่นำพานักแสดงที่รับบทตัวละครต่าง ๆ ที่คนหลงรักจากหนังยุคก่อน ๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในหนังด้วย สำหรับเรา มันเป็นวิธีที่ดีมาก ๆ ในการเชื่อมโลกของคนยุคเก่า เช่น Baby Boomer หรือ Gen-B กับคนยุคใหม่ เช่น Gen-Y และ Gen-Z เข้าด้วยกัน มันเป็นวิธีที่ทำให้คนต่างวัยสามารถใช้เวลาร่วมกันและเอ็นจอยกับมีเดียหรือหนังยุคใหม่ ๆ ไปด้วยกันได้ และคนแก่จะไม่รู้สึกถูก left behind
สำหรับเรา ณ ตอนนี้ ในบรรดาทฤษฎีมากมายเกี่ยวกับการเดินทางข้ามเวลา ทฤษฎี Multiverse สไตล์ “สปาเก็ตตี้” หรือการแตกแขนงของกิ่งก้านสาขาต้นไม้ เป็นทฤษฎีที่โน้นน้าวเราได้มากกว่าทฤษฎีการเดินทางข้ามเวลาในหนังยุคก่อน ๆ หลาย ๆ เรื่อง
กล่าวคือ เราเชื่อว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมันล้วนหล่อหลอมและส่งผลให้เราเป็นเราอย่างทุกวันนี้ เช่น เราเองก็เคยคิดเหมือนกันว่า ถ้าตอนเด็ก ๆ เราได้โตมากับพ่อ หรือได้โตมาทั้งกับพ่อและกับแม่ เราก็คงไม่เป็นเราอย่างที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้ และเราต้องยอมรับว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมันควรจะดีที่สุดแล้วสำหรับเรา แทนที่จะนึกเสียดายในสิ่งที่ทำหรือไม่ได้ทำในอดีต เราควรมาอยู่กับปัจจุบันให้ดีที่สุดดีกว่า
เราเชื่ออีกว่า ต่อให้เราย้อนเวลาและไปแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงจุดจุดหนึ่งในอดีตได้จริง เราอาจจะแค่ได้สร้างเส้นทางใหม่ขึ้นมาจากไทม์ไลน์เส้นเดิม ดังนั้น ทุก ๆ ผลลัพธ์ที่ตามมาจากการเกิดขึ้นของไทม์ไลน์หลัก เช่น คนสองคนแต่งงานกัน มีลูกมีหลานกัน (ซึ่งในความเป็นจริง สิ่ง ๆ หนึ่งมันมักจะกระทบสิ่งอื่น ๆ มากกว่า 1 สิ่งอยู่แล้ว) สิ่งเหล่านั้นมันก็จะยังคงมีอยู่หรือดำเนินขึ้นต่อไปในไทม์ไลน์นั้น สิ่งที่มันเกิดขึ้นไปแล้วมันจะไม่ถูกลบเลือนหรือหายไปจากไทม์ไลน์หรือจากความทรงจำเราอยู่ดี
ปัจจุบัน พวกเราอาจจะได้ดูหนังที่ใช้ธีม Multiverse หลายเรื่องแล้ว แต่หลังจากดู The Flash เราก็ยังสนับสนุนการทำหนังเกี่ยวกับ Multiverse แบบนี้ออกมาอีกเรื่อย ๆ เพื่อสนับสนุนและปลูกฝังความคิดเรื่องการยอมรับความหลากหลายในสังคมให้ถึงรากลึกมากกว่านี้
เพราะอย่างทุกวันนี้ เรายังเห็นคนในโซเชียลมีเดียหลายคน ที่อวย Spider-Man: Across the Spider-Verse ซึ่งมี message สอนให้คนดูโอบรับความหลากหลายและเชื่อว่าใคร ๆ ก็เป็นสไปเดอร์แมนได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังทำคอนเทนต์ด้อยค่า The Little Mermaid หรือ Ariel ผิวสีด้วยอคติและเหตุผลเกี่ยวกับ perception ส่วนตัว บ้างก็พูดเสริมอีกว่า ถ้า The Little Mermaid ไม่ยัดเยียดความ woke มาแต่แรก ก็คงไม่โดนด่า ซึ่งประเด็น woke นี้ เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า คนพูดเค้าเข้าใจและตีความคำว่า woke ไปอีหรอบไหน เพราะสำหรับเรา ทั้งสองเรื่องนั้นก็ woke เหมือนกัน และ woke culture ก็ไม่ใช่คำ negative
อย่างในเดือนนี้ เราได้ดูหนัง Multiverse แทบติด ๆ กัน คือเรื่อง Spider-Man: Across the Spider-Verse และก็เรื่องนี้ รวมถึงซีรีส์ American Born Chinese บน Disney+ ที่ถึงแม้มันจะไม่ได้เน้น Multiverse แต่ก็มีไอเดียเรื่องความหลากหลายของฮีโร่เช่นกัน แล้วหนังและซีรีส์หลาย ๆ เรื่องนี้ในช่วงนี้ มันทำให้เราเชื่อมั่นได้ยิ่งกว่าที่แล้วมาว่า “ใคร ๆ ก็สามารถเป็นฮีโร่ได้”
ถ้าแอนิเมชั่น The Little Mermaid 1989) และหนังเก่าหลาย ๆ เรื่อง สามารถสร้างภาพจำและบิวตี้สแตนดาร์ดฝังลึกมาได้ยาวนานกว่า 30 ปี เราก็เชื่อว่า ความหลากหลายที่อยู่ในหนังใหม่ ๆ ในยุคนี้ ไม่ว่าหนังจะดีมากหรือดีน้อย จะค่อย ๆ ก่อเกิดเป็นพลังขับเคลื่อน ทลายภาพจำที่สร้างมาตั้งแต่ยุคคนขาวครองฮอลลีวู้ด และสร้างโลกใบใหม่ที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยต่อคนทุกคนได้จริง ๆ
ไม่ว่าจะเชื้อชาติสีผิวใด เพศใด หรือวัยใด เราต่างก็เป็นแบทแมนได้ เป็นซูเปอร์แมนได้ เป็นสไปเดอร์แมนได้ ฯลฯ และถ้ามันจำเป็น เราก็สนับสนุนให้สร้างหนัง Multiverse ของเจ้าหญิงดิสนีย์ขึ้นมาใหม่ ให้ Ariel ผิวขาวผมแดงว่ายน้ำทะลุจักรวาลไปเจอ Ariel ผิวดำผมเดดล็อกกันไปเลย แบบในหนัง The Spider-Verse เพราะนั่นดูเหมือนจะเป็นการ woke ที่ชาวเน็ตหลายคนเขากล่าวว่า “ถ้าโปรโมทความหลากหลายแบบนี้ เขายอมรับได้”