หนึ่งในข่าวดังที่สุดในปี 2018 ของบ้านเราที่ดังไปไกลถึงต่างประเทศ คงหนีไม่พ้นข่าวทีมฟุตบอลหมูป่า 12 คนกับโค้ช 1 คนติดถ้ำหลวงกว่าสองสัปดาห์ จนนักกู้ภัย ชาวบ้าน และผู้เชี่ยวชาญศาสตร์ที่เกี่ยวข้องจากทั่วทุกมุมโลก ต้องเข้ามาช่วยเหลือแก๊งติดถ้ำทั้ง 13 คนให้ออกมาได้อย่างปลอดภัย
Tom Waller ผู้กำกับลูกครึ่งไทย-ไอริช และเกิดที่กรุงเทพฯ ได้ถ่ายทอดเหตุการณ์ครั้งนั้นมาเป็นภาพยนตร์กึ่งสารคดี มีการใช้ฟุตเทจจริงและใช้บุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นจริง ๆ เช่น นักดำน้ำ มาร่วมแสดงในภาพยนตร์ The Cave: นางนอน นี้ด้วย ซึ่งตรงนี้ก็มีทั้งข้อดีข้อด้อยต่อตัวหนังพอสมควร
Jim Warny หนึ่งในนักดำน้ำกู้ภัยในครั้งนั้น ได้มาร่วมแสดงด้วย เขาออกมามีบทบาทจริงจังก็ปาไปกลางเรื่องแล้ว แต่พอออกมาแล้ว เด่นแล้วก็เด่นเลย และเหมือนแทบจะเป็นตัวละครตัวเดียวที่มีมิติและ backstory จริง ๆ เช่น เหตุผลส่วนตัวที่ตัดสินใจบินมาช่วยหมูป่า เป็นต้น

ปกติแล้ว การรู้เรื่องราวและตอนจบของมันอยู่แล้วไม่ใช่ประเด็นที่ทำให้เราดูหนังสนุกน้อยลง (บางเรื่องเราก็ถูกสปอยล์ก่อนดูมาแล้วบ้างล่ะ บางเรื่องเคยดูซ้ำแล้วซ้ำอีกบ้างล่ะ บางเรื่องก็สร้างจากเรื่องจริงที่ใคร ๆ ก็รู้กันอยู่แล้วบ้างล่ะ ฯลฯ) สำหรับ The Cave: นางนอน เอง ก็มีบางช่วงที่เรารู้สึกว่า ยังน่าติดตาม ยังน่าลุ้น กับหลาย ๆ ช่วงที่รู้สึกเฉย ๆ และน่าเบื่อ
อาจจะเพราะ The Cave: นางนอน มีความเป็นสารคดีมากกว่าเป็นหนัง คือดูสมจริงนะ ดูเรียลดี ไม่บิลด์เว่อร์วัง แต่สำหรับคนที่รู้เรื่องราวประมาณหนึ่งอยู่แล้วก็อาจจะเบื่อได้ง่าย เพราะหนังไม่มีอะไร exclusive หรือเบื้องลึกไปกว่าที่เราเคยเห็นจากข่าวหรือโซเชียลฯ ในช่วงนั้นมาให้เราได้ดูเพิ่มเติมกว่านั้นสักเท่าไหร่ แต่ถึงกระนั้น คนที่ไม่รู้เรื่องราวอะไรเลยมาดู เราคิดว่า เค้าก็คงรู้สึกอินและคล้อยตามได้ยากอยู่ดีเหมือนกัน

ฉากสำคัญอย่างฉาก rescue ใน The Cave: นางนอน ยังไม่ชวนลุ้น ชวนตื่นเต้นติดตาม หรือดราม่าบีบเค้นหัวใจเท่าที่ควร เราจำความรู้สึกตอนดูหนังเรื่อง The 33 ซึ่งสร้างจากเหตุการณ์จริงที่ เหมืองซานโฮเซ่ (San José) ประเทศชิลี ถล่มและคนงาน 33 คนติดอยู่ใต้ดินที่ลึกกว่าตึก 200 ชั้น เป็นเวลา 69 วัน ยังมีความอิมแพคและน่าจดจำมากกว่า (ถึงแม้จะขยี้ดราม่าเกินไปและแอบอวยบางประเทศออกนอกหน้าไปนิดนึงก็เถอะ)
แต่สิ่งที่ชอบใน The Cave: นางนอน ก็คือ การนำเสนอเรื่องการร่วมมือร่วมใจกันของผู้คนจากทั่วทุกสารทิศ ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการหยิบเอาความจริงของระบบการทำงานของหน่วยงานไทยมาพูดในหนัง ซึ่งสั้น ๆ แต่ตรงประเด็น เห็นภาพใหญ่ ประมาณว่าพูดน้อยต่อยหนัก (ชอบซีนรถมูลนิธิ “นั้น” และฮาซีน “คนที่คุณก็รู้ว่าใคร” ที่สุด มีความตลกร้ายและขำแห้ง)
สรุปคือ The Cave: นางนอน ก็ทำหน้าที่ในการเป็นสื่อบันทึกประวัติศาสตร์ได้ดีประมาณหนึ่ง อาจไม่ได้น่าตื่นเต้นเหมือนหนังกู้ภัยเพียว ๆ ที่เราคุ้นเคย แต่ในแง่ของความไม่เน้นปรุงแต่งและพาไปอยู่่ติดขอบสถานการณ์จริงยิ่งกว่าฐปณีย์ (นักข่าวชื่อดัง) เราว่าเขาทำได้โอเคทีเดียวแหละ
คะแนนตามความชอบส่วนตัว 7/10
1 comment
Comments are closed.