Move to Heaven (무브 투 헤븐) ซีรีส์เกาหลี 10 ตอนจบจาก Netflix เพิ่งปล่อยสตรีมเมื่อกลางเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา และเป็นที่กล่าวถึงในหมู่คอซีรีส์และผู้ชมที่ชื่นชอบแนวดราม่า เราอาจจะเริ่มดู Move to Heaven ช้าไปหน่อย และไม่ค่อยอินมากเท่าไหร่ เพราะไม่ใช่คอหนัง/ซีรีส์แนวดราม่าแบบนี้ แต่ยอมรับว่า Move to Heaven เป็นซีรีส์น้ำดีแห่งปีของ Netflix
เรื่องราวของ Move to Heaven ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรียงความ “Things Left Behind” ของ Kim Sae-byul ซึ่งมีอาชีพเป็นคนทำความสะอาดและเก็บกวาดข้าวของของผู้เสียชีวิต เช่นเดียวกับกลุ่มตัวละครเอกในซีรีส์ คนไทยอย่างเรา ๆ อาจจะยังไม่ค่อยคุ้นชินกับอาชีพลักษณะนี้ แต่เกาหลีไม่ได้มีสถาบันครอบครัวที่เป็นครอบครัวขยายหรือครอบครัวใหญ่เท่าบ้านเรา และด้วยปัจจัยหลายอย่าง พวกเขาต้องแยกกันอยู่ และอยู่คนเดียวในห้องเล็ก ๆ
ในซีรีส์ Move to Heaven ตัวละครเอกคือ Geu-Roo (Tang Joon-sang น้องเล็กในแก๊งทหารเกาหลีเหนือจาก Crash Landing on You) เด็กหนุ่มวัย 20 ปี และเป็น Aspergers Syndrome (คล้าย ๆ ออทิสติก) ทำธุรกิจเก็บกวาดที่เกิดเหตุร่วมกันกับพ่อ (Jin-hee Ji จาก The Great Jang-Geum) แต่หลังจากพ่อเสียชีวิต ทนายก็ส่งอา Sang-Koo (Lee Jehoon จาก Taxi Driver) ที่เพิ่งออกจากคุก มาเป็นผู้ปกครองและเป็นลูกทีมแทนพ่อ โดยมี Yoon Na-mu (Hong Seung-hee จาก Navillera) เพื่อนบ้านและเพื่อนคนเดียวของ Geu-Roo คอยช่วยอีกแรง
ในแต่ละ episode เราจะได้ตามคู่อาหลาน (ยกเว้น ep.1 ที่ยังเป็นคู่พ่อลูก) ไปเก็บกวาดห้องของผู้เสียชีวิตเป็น episode ละจ็อบ ๆ ไป โดยแต่ละจ็อบ เราจะได้ทำความรู้จักและรับรู้เรื่องราวของผู้ตายจากข้าวของในห้องของเขา อีกทั้ง มันจะเหมือนเราได้ไขปริศนาว่า ผู้ตายต้องการจะบอกอะไรกับคนที่อยู่จากข้าวของเหล่านั้น (ไม่มีผีนะ บอกก่อน) ซึ่งมันก็จะมีมุมที่เราอาจคาดไม่ถึง ความซาบซึ้ง หรือความประทับใจที่เรียกน้ำตาคนดูได้ไม่มากก็น้อย แต่ที่แน่ ๆ ในทุก ๆ จ็อบที่ไป ตัวละครอาหลานจะได้เติบโตและเข้าใจชีวิตมากขึ้นจากผู้ล่วงลับ
โดยส่วนตัว เราไม่ได้ร้องไห้และรู้สึกว่าซีรีส์จงใจพยายามดึงดราม่ามากเกินไปหน่อย แต่ก็เห็นถึงความสวยงามและความตั้งใจที่จะถ่ายทอดประเด็นต่าง ๆ ซึ่งใน season 1 นี้ ซีรีส์เขาพยายามสะท้อนและแตะประเด็นสังคมรอบด้าน ตั้งแต่ให้ตัวเอก “แตกต่าง” จากตัวเอกที่เราพบเห็นได้ทั่วไป จนไปถึงประเด็นครอบครัว, การใช้แรงงาน, ความไม่เท่าเทียมของรายได้, การทำร้ายร่างกายผู้หญิง, LGBTQs, ผู้สูงอายุ, เด็กกำพร้า ฯลฯ นอกจากนี้ก็มี subplot เกี่ยวกับอดีตของคุณอา ได้แก่ สาเหตุที่เขาต้องเข้าคุก และความสัมพันธ์ของเขากับพี่ชาย (พ่อของ Geu-Roo)
ซีรีส์เหมือนจะเปิดทางให้ปมความรักหรือโรแมนติกหลายคู่ แต่ก็ไม่ได้ไปต่อและจบแบบไม่มีอะไรคืบหน้าสักคู่ (ไม่รู้จะไปต่อกันภาคหน้าหรือเปล่า) แต่สิ่งที่ซีรีส์โฟกัสและทำได้อย่างน่าสนใจคือพัฒนาการทางความสัมพันธ์ของคู่อาหลาน ที่ทำให้เราหลงรัก อยากเอาใจช่วยให้อาได้รับการยอมรับและสอบผ่านกับการเป็นผู้ปกครองฝึกหัดของ Geu-Roo
ไม่ว่าจะอย่างไร การแสดงของนักแสดงทั้งสองที่รับบทอาหลานนั้นสอบผ่านแน่นอน โดยเฉพาะ Tang Joon-sang ที่รับบทเป็น Geu-Roo ซึ่งเราเชื่อว่า บท Aspergers Syndrome นี้อาจส่งให้เขาได้รับ (หรืออย่างน้อยก็ต้องได้เข้าชิง) รางวัล Baeksang ตามรอยรุ่นพี่ Oh Jeong-Se ที่รับบทเป็นคนออทิสติกใน It’s Okay to Not Be Okay ทั้งนี้ เพราะมันเป็นบทที่ท้าทายความสามารถของนักแสดงอย่างมากและคว้าใจคนดูได้อยู่หมัด (แต่ Tang Joon-sang อาจได้เข้าชิงแค่สาขานักแสดงดาวรุ่งชาย สาขาเดียวกับ Lee Do-Hyun จาก 18 Again)
โดยสรุป เราอาจไม่ได้หลงรักในเรื่องราวอันแสนดราม่าของ Move to Heaven เท่ากับที่เราหลงรักในตัวละครอันเต็มไปด้วยบาดแผลของเขา แต่เราก็ไม่ปฏิเสธที่จะเชียร์ให้ Move to Heaven ซีรีส์ออริจินัล Netflix เป็นซีรีส์ที่ควรดูและควรค่าแก่การเข้าชิงรางวัลในหลาย ๆ สาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคุณเป็นสายซีรีส์ดราม่าหรืออินกับเรื่องราวแนวครอบครัวอยู่แล้ว ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่คุณจะไม่ดูซีรีส์เรื่องนี้ ยกเว้นเสียว่า… คุณจะไม่อยากร้องไห้หรือคิดถึงคนในครอบครัวของคุณ…