ชีวิตเราต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงหรือโยกย้ายกันแทบตลอดเวลา ไม่ว่าจะโดยการวางแผนล่วงหน้าหรือโดยมิได้ตั้งตัว ไม่ว่าจะเป็นไปตามคาดฝันดั่งใจหรือเป็นไปในทิศทางที่เราไม่ได้อยากให้เป็น แต่สุดท้าย เพื่อเอาตัวรอดและมีชีวิตอยู่ต่อไป เราต้องเรียนรู้ ยอมรับ ปรับตัวและ embrace กับสิ่งต่าง ๆ รอบข้างนั้นให้ได้ เช่นเดียวกับครอบครัวเกาหลีที่อพยพมาตั้งรกรากในอเมริกา ซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่อง Minari (미나리) หนังเชื้อสาย Korean American ที่เข้าชิงออสการ์ 6 สาขาเรื่องนี้
เรื่องย่อ Minari
Minari เป็นหนังกึ่งอัตชีวประวัติ บอกเล่าเรื่องราวชีวิตครอบครัวของ Lee Isaac Chung ผู้กำกับ-คนเขียนบทของเรื่อง ย้อนไปในวันเด็กของเขาช่วงราว ๆ ปี 1980s เมื่อ Jacob (Steven Yeun จาก The Walking Dead) ซึ่งเป็นผู้อพยพจากเกาหลี ได้พาครอบครัวย้ายจากเมืองใหญ่อย่าง California มาเริ่มต้นทำฟาร์มในย่านไกลปืนเที่ยงอย่าง Arkansas ซึ่งสร้างความผิดหวังแก่ Monica ภรรยาของเขา (Yeri Han จาก Secret Zoo) อย่างมาก เพราะเธอห่วงความเป็นอยู่ของลูก ๆ ของเธอ โดยเฉพาะ David ลูกชายคนเล็ก (Alan S. Kim) ซึ่งมีโรคประจำตัว
นอกจากการทำฟาร์ม ในระหว่างวัน สองสามีภรรยายังต้องไปรับจ้างแยกเพศลูกไก่ในโรงงานด้วย ทำให้ลูก ๆ อย่าง Anne (Noel Cho) และ David ต้องอยู่โดยลำพัง ต่อมาพวกเขาจึงตกลงให้ Soonja (Yuh-Jung Youn) คุณยายของเด็ก ๆ บินมาอยู่ด้วยกันที่นี่ โดยคุณยายได้นำของจากเกาหลีติดมาด้วยมากมาย รวมถึงเมล็ดพันธุ์ “มีนารี” (미나리) ซึ่งเป็นผักพื้นบ้านที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในอาหารเกาหลีหลากหลายเมนูและเป็นยาได้ด้วย แต่การมาของคุณยายก็สร้างความไม่พอใจแก่ David ที่ต้องแชร์ห้องนอนกับคุณยาย และคุณยายก็ไม่เหมือน “คุณยายในอุดมคติของอเมริกัน” ที่คอยอบคุกกี้ให้หลาน ๆ ตรงกันข้าม คุณยายเอาแต่เล่นไพ่ ดูทีวี และสบถเป็นภาษาเกาหลี
“She’s not like a real grandma,”
ความฝันของอเมริกันชน
James Truslow Adams ได้ให้นิยามของคำว่า American Dream ไว้เมื่อปี 1931 ว่า “Life should be better and richer and fuller for everyone, with opportunity for each according to ability or achievement, regardless of social class or circumstances of birth.” ถึงแม้ว่าความหมายของ American Dream ก็อาจแตกต่างกันไปบ้างเล็กน้อยตามยุคสมัย แต่คอนเซ็ปต์หลักของมัน ประกอบกับปัจจัยหรือปัญหาของแต่ละพื้นที่อื่น ๆ (เช่น สงคราม ความข้าวยากหมากแพง) ก็ทำให้มีผู้อพยพมาเริ่มต้นใหม่ที่อเมริกากันอย่างต่อเนื่อง
หัวหน้าครอบครัวของเรื่องเป็นตัวละครที่เราสามารถเห็นได้ชัดว่าเขากำลังไล่ตามความฝันของอเมริกันชน พร้อมกับแบกรับภาระอันยิ่งใหญ่ไว้บนบ่า เขาเปรียบตัวเองเป็น “ลูกไก่ตัวผู้” ที่จะโดนกำจัด (เช่นเดียวกับลูกไก่ที่บาดเจ็บ) เพราะไม่สามารถตั้งท้องหรือออกไข่เป็นอาหารได้ เขาจึงคิดว่า เขาจึงต้องทำตัวให้เป็นประโยชน์ที่สุดและรับผิดชอบในพาร์ทอื่น ๆ ของครอบครัวให้ได้ดีที่สุด อีกทั้งเขายังมองว่า การทำงานประจำเหมือนเครื่องจักรเครื่องกลไม่ได้ช่วยให้รวยหรือมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ เขาจึงหวังมุ่งมาทางด้านกสิกรรม ตามนโยบาย “เกษตรกรชนะ” ของ Ronald Reagan (ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วง 1981 – 1989)
Jacob เริ่มทำฟาร์มปลูกพืชผักเกาหลี ด้วยมองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่มีชาวเกาหลีอพยพมาอยู่อเมริกาปีละจำนวนมาก เขาถึงกับทุ่มเงินเก็บเกือบทั้งหมด กู้ธนาคาร และจ้าง Paul (Will Patton จาก Armageddon) คนแถวนั้นมาเป็นลูกมือ ซึ่งเราต้องยอมรับว่า Jacob เป็นชายที่มีวิสัยทัศน์ ความเป็นผู้นำ และความมุมานะตรากตรำ แต่นั่นมันเพียงพอแล้วหรือไม่ที่จะทำให้เขาประสบความสำเร็จ และสามารถทำให้สมาชิกครอบครัวมีความสุขได้
“Farming these days, you gotta go big or go home; that’s just how it is.”
ไม่ใช่เรื่อง racism หรือ immigrants
ถึงแม้ครอบครัวตัวละครหลักในเรื่องจะพูดภาษาเกาหลีเป็นหลักและมีรูปลักษณ์ภายนอกแบบคนเอเชีย แต่พวกเขาก็มีวิถีชีวิตและวิธีคิดหลายอย่างในแบบอเมริกัน โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่เกิด-เติบโตมาในประเทศอเมริกาแท้ ๆ และไม่เคยไปประเทศเกาหลีเลย เซตติ้งของเรื่องก็อยู่ในอเมริกา 100% ตัวผู้กำกับ-คนเขียนบทเอง (ซึ่งก็คือเจ้าเด็ก David ในเรื่อง) ก็เป็น Korean American หรือกระทั่งโปรดิวเซอร์อย่าง Brad Pitt และทีม A24 ก็เป็นอเมริกัน
เช่นเดียวกับหนัง The Farewell จากค่ายเดียวกันที่ประสบความสำเร็จเมื่อปีที่แล้ว หนังไม่ได้เอาเรื่องราวของคนอเมริกันเชื้อสายเอเชียมาเล่าถึงปัญหา racism หรือความลำบากตรากตรำในชีวิตของการเป็นคนอพยพข้ามชาติ แต่ The Farewell พูดถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมของ East & West โดยไม่ได้ตัดสินว่าวัฒนธรรมไหนดีกว่ากัน และ Minari ก็พูดถึงชีวิตของคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่และการมีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ปุถุชนทุกรูปนามต้องประสบ ไม่ว่าจะเชื้อชาติไหน เพศไหน หรือสถานะทางสังคมดีแย่อย่างไร
ดังนั้น Minari มันคือเรื่องราวที่ universal เป็นเรื่องของพวกเราทุกคน ตั้งแต่เรื่องราวของชีวิตครอบครัวที่ต้องปากกัดตีนถีบเพื่อให้ทุกคนในครอบครัวมีชีวิตที่ดี อีกทั้งยังมีเรื่องของการปรับตัวเมื่อเราต้องเจอกับสิ่งใหม่ ๆ การเปลี่ยนแปลงโยกย้าย หรือปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ เหมือนกับพืช Minari ที่คุณยายเอามาจากเกาหลี มันแข็งแกร่ง เติบโตง่ายโดยธรรมชาติ และสามารถปรับตัวให้อยู่รอดได้กับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ นอกจากนี้ Minari ยังมีลักษณะเด่นคือ หลังหว่านเมล็ดครั้งแรกมักจะไม่ค่อยเติบโต แต่จะเจริญงอกงามขึ้นกว่าเดิมหลังจากที่ผลัดใบครั้งแรกตาย ซึ่งผู้กำกับต้องการให้มันสะท้อนถึงเรื่องราวของครอบครัวในเรื่องนี้นั่นเอง
“Minari is truly the best. It grows anywhere, like weeds. So anyone can pick and eat it. Rich or poor, anyone can enjoy it and be healthy. Minari can be put in kimchi, put in stew, put in soup. It can be medicine if you are sick. Minari is wonderful, wonderful!”
ผู้อยู่รอดคือผู้ที่ปรับตัวได้ดีที่สุด
เมื่อการปรับตัวเป็นธีมหลักของเรื่อง ธีมที่ต้องมาควบคู่กันก็คือ การเปลี่ยนแปลง หรือความไม่แน่นอน อย่างที่บอกไปในตอนแรก เราต้องสามารถปรับตัวกับสิ่งต่าง ๆ ได้ เราจึงสามารถพูดได้ว่า บางทีผู้ที่อยู่รอดอาจไม่ใช่ผู้ที่แข็งแกร่งที่สุด หากแต่เป็นผู้ที่ปรับตัวได้ดีที่สุดต่างหาก เพราะใดใดในโลกล้วนอนิจจัง ล้วนเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา โดยการปรับตัว ณ ที่นี้ หมายถึงทั้งการปรับตัวทางกายภาพ ความคิด และจิตใจ
ถึงแม้จะยังมีอีโก้และความเชื่อมั่นในตัวเองสูงอยู่บ้าง แต่ Jacob ก็สามารถรับมือกับความอเมริกันได้ดี ในขณะที่ Monica ช้ากว่า ทั้งในการทำงาน และปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมที่นี่ เช่น เธอยังยึดติดกับความสะดวกสบายของชีวิตคนเมือง และชอบที่แคลิฟอร์เนียมีโบสถ์เกาหลี ทำให้เธอไม่แฮปปี้กับการใช้ชีวิตในชนบท และไปโบสถ์ที่เธอไม่คุ้นเคย เธอดูเปิดรับที่จะคุยกับคนเกาหลีด้วยกัน แต่เธอยังปิดกั้นที่จะมีเพื่อนใหม่เป็นคนอเมริกันท้องถิ่น หรืออาการ homesick ที่เธอแสดงออกมาอย่างชัดเจนเมื่อเธอได้รู้ว่าแม่ (คุณยายในเรื่อง) เอาพริกป่นและปลาแห้งจากเกาหลีติดมาด้วย
การเปลี่ยนแปลงย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งต่าง ๆ ไม่มากก็น้อย ไม่ดีก็ร้าย แต่การเปลี่ยนแปลงหรือกระทั่งความเจ็บปวดมักนำไปสู่การเติบโต ตรงกันข้าม ถ้าเราติดอยู่ในคอมฟอร์ตโซนหรือใช้ชีวิตแบบเดิม ๆ เราก็จะได้ผลลัพธ์แบบเดิม ๆ โดยการเปลี่ยนแปลง ไม่จำเป็นต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่เสมอไป เราอาจจะเปลี่ยนแค่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน แต่พอเราทำอย่างสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย (habit) มันก็สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้เช่นกัน
เช่น David ที่อาการป่วยดีขึ้นอย่างปาฏิหาริย์ ซึ่งหนังก็ไม่ได้สรุปให้เราทราบหรอกว่าเพราะอะไร มันอาจจะเป็นเพราะน้ำ Mountain Dew ที่พ่อให้ดื่มทุกวันก็ได้ มันอาจจะเป็นเพราะยาสมุนไพรของคุณยายก็ได้ มันอาจจะเป็นเพราะการย้ายบ้านมาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติก็ได้ มันอาจจะเป็นเพราะการมาอยู่ของคุณยายก็ได้ มันอาจจะเป็นเพราะการสวดมนต์ภาวนาจากความเชื่อของ Paul ก็ได้ หรืออาจจะเป็นเพราะทุกอย่างที่ว่ามานั้นรวมกันก็ได้ ไม่มีใครรู้
“บ้าน” คือ “ผู้คน”
ในช่วงหลังมานี้ มีหนังหลายเรื่องพยายามถ่ายทอดนิยามของคำว่า “home” หรือ “บ้าน” ว่ามันไม่ใช่ “สถานที่” หากแต่คือ “ผู้คน” ซึ่ง Minari ก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่จริง ๆ แล้ว มันไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เราได้ทราบความแตกต่างของ “house” กับ “home” กันมาตั้งแต่คลาสเรียนภาษาอังกฤษสมัยอนุบาลกันอยู่แล้ว แต่พอยต์เรื่องบ้านใน Minari ไม่ได้มีแค่นั้น
ในระหว่างที่เราต่างดิ้นรนตามหา “สถานที่” ที่ดีที่สุดที่เราจะเรียกมันว่า “บ้าน” หรือหาเงินทองมาสร้างเสาบ้านให้มั่นคงที่สุดเท่าที่กำลังวังชาจะหาได้ เราอาจหลงลืมกันไปว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “กันและกัน” หรือ “ผู้อยู่อาศัย” ที่อยู่ด้วยกันในบ้านหลังนี้
ในหนัง จะมีตัวละคร Jacob ที่เอาแต่ทำงานหนักเพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเงินให้กับครอบครัวและมุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จเพื่อเป็น role model ให้ลูก ๆ ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของภรรยาที่เขาให้ความสำคัญกับฟาร์มมากกว่าความคิด ความรู้สึก หรือความเป็นไปของคนในครอบครัว ทั้งสองตัวละครมันเทา ๆ ไม่มีความคิดของฝ่ายไหนถูกทั้งหมด ไม่มีความคิดของฝ่ายไหนไม่ดีไปเสียหมด พวกเขาแค่มองแตกต่างกัน
แต่สุดท้าย ความแตกต่างไม่ได้แปลว่าต้องแตกหักหรือแตกแยกเสมอไป ความคิดของพวกเขามันเหมือนฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน ที่ถ่วงดุลอำนาจและคอยเบรคความเสี่ยงไปด้วยกัน พวกเขาจึงควรมีกันและกัน บ้านหลังนี้จะขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปไม่ได้ แต่ทั้งนี้พวกเขาอาจจะต้องค่อย ๆ ปรับจูนและหาตรงกลางให้กับมัน แน่นอนว่า คำว่า “ตรงกลาง” ไม่ได้แปลว่า 1:1 หรือ 50-50 เสมอไป มันอาจจะเอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งมากกว่าก็ได้ แต่สุดท้ายมันคือความพอดี ลงตัว แล้วบ้านไม่พัง
เช่นเดียวกัน พ่อของเราก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนพ่อคนอื่น ยายของเราก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนยายคนอื่น เช่น คุณยายในเรื่องที่ตรงกันข้ามกับภาพคุณยายในอุดมคติหรือคุณยายทั่วไปของชาวอเมริกันอย่างมาก ไม่ว่าคนคนนั้นจะมีส่วนที่เราทั้งชอบและไม่ชอบอย่างไร แต่นั่นก็คือ ครอบครัวของเรา คือสิ่งที่หลอมรวมและคือส่วนหนึ่งในชีวิตเราที่ทำให้เราเป็นเราอย่างทุกวันนี้
“Isn’t it more important for them to see us together?”
โบสถ์อยู่ที่ใจ ไม่ใช่สถานที่
สิ่งที่ผูกพันอยู่กับชีวิตเรายิ่งกว่ารากเหง้าทางวัฒนธรรมหรือแนวคิดของชาติใดชาติหนึ่งคือ ศาสนา ความเชื่อ หรือความศรัทธา เช่น Paul เขามีความเชื่ออันแรงกล้าและมีโบสถ์ของเขาเอง โดยไม่ต้องไปโบสถ์เหมือนชาวคริสต์ทั่วไป พูดง่าย ๆ คล้ายกับข้างบนก็คือ ธรรมะอยู่ที่ใจ ไม่ใช่สถานที่
เรามองว่าโบสถ์เป็นเพียงสัญลักษณ์ของสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจหรือสิ่งที่เป็นแรงบันดาลในการดำรงชีวิต ดังนั้น โบสถ์ของแต่ละคนจึงไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน คนเราสามารถมีสิ่งอื่นเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจได้นอกจากโบสถ์จริง ๆ หรือศาสนาต่าง ๆ แต่สิ่งสำคัญคือ เราไม่ควรลบหลู่หรือดูหมิ่นความเชื่อหรือความศรัทธาของผู้อื่น
อีกสิ่งที่ควรตระหนักถึงคือ ถ้าเรายึดติด ศรัทธา หรือเชื่อมั่นในสิ่งสิ่งหนึ่งมากเกินไป แล้วถ้าสมมติวันนึง สิ่งสิ่งนั้นมันหายไป หรือไม่เป็นอย่างที่เราหวังแล้ว หรือเราหมดศรัทธากับสิ่งสิ่งนั้นแล้ว เราจะเป็นอย่างไรต่อไป เช่นเดียวกับ Monica ที่อุตส่าห์ตัดสินใจตาม Jacob เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมา ด้วยความหวังและความเชื่อมั่นว่าจะสร้างครอบครัวที่ดีด้วยกันได้ที่ the land of opportunity แต่สุดท้าย เมื่อบางสิ่งบางอย่างมันไม่เป็นไปอย่างที่วาดฝัน ถ้าเราเป็นเธอ เราจะล้มเลิกหรือละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างที่สร้างมาด้วยกันหรือสิ่งอื่น ๆ ที่ทุกวันนี้เรามีได้เพราะสิ่งสิ่งนั้นไปด้วยเลยหรือไม่?
เราเข้าใจ ถ้า Monica จะเสื่อมศรัทธาหรือรู้สึกสิ้นหวังกับการอยู่กับผู้ชายคนนี้ แต่สิ่งที่น่าชื่นชมเกี่ยวกับ Jacob คือ เขามีความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะล้มเหลวหรือไม่ก็ตาม เขาจะไม่ล้มเลิกกลางคัน เขาจะพยายามทำอย่างเต็มที่และทำสิ่งที่เขาเริ่มต้นมาให้เสร็จ เพราะเขาศรัทธาในตัวเอง เช่นเดียวกัน ถ้าเราเป็น Monica เราจะย้อนไปยังจุดเริ่มต้นอีกครั้ง นึกถึงความทรงจำหรือคำมั่นสัญญาที่เคยมีไว้ให้กัน ถ้าเราเห็นได้อยู่ว่า Jacob ยังอยู่ในโปรเซสนั้นหรือยังพยายาม keep มันไว้อยูสุดความสามารถของเขา เราก็ควรให้โอกาส ซัพพอร์ต และไม่หมดศรัทธาในตัวเขาง่าย ๆ ด้วยเช่นกัน หลายคู่ที่เลิกรากัน ส่วนหนึ่งก็เพราะพวกเขาหมดศรัทธาซึ่งกันและกัน ลืมความรู้สึกก่อนจะคบกันหรือสิ่งที่สร้างมาด้วยกัน หรือไม่สื่อสารให้เข้าใจกัน
Remember what we said when we got married? That we’d move to America and save each other?
สิ่งที่มองไม่เห็นน่ากลัวกว่าสิ่งที่มองเห็น
คุณยายสอนหลานชายว่า อย่าไปทำร้ายหรือกลัวงูที่เขาเลื้อยผ่านไป มันไม่น่ากลัวเท่างูที่มองไม่เห็น ประโยคนี้ของคุณยายสอนอะไรแก่หลานและคนดูหลายอย่าง กล่าวคือ ตราบใดที่เขาอนุญาตให้เรามองเห็นหรือรับรู้ได้ เรายังสามารถรับมือได้ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเขาไปซ่อนไม่ให้เรามองเห็น แบบนั้นน่ากลัวกว่า เพราะเราไม่รู้ว่าเขาจะซุ่มมาทำร้ายเราเมื่อไหร่ เช่นเดียวกับความรู้สึกของคน ถ้าเขาคิดอะไร แล้วเขาพูดหรือแสดงออกออกมาว่าชอบหรือไม่ชอบ มันยังไม่น่ากลัวเท่าคนที่เก็บงำความรู้สึกของตัวเองไว้ไม่ให้คนอื่นรู้ หรืออีกนัยนึงง่าย ๆ ก็คือ เราไม่ควรไปทำร้ายคนที่แตกต่างจากเราทั้งที่เขาก็แค่กำลังจะใช้ชีวิตปกติในทางของเขา
ดีงามสมดีกรีหนังเข้าชิงออสการ์ 6 สาขา
Minari ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ 6 สาขา รวมถึงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม และนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม โดยเฉพาะสาขา Best Actor ที่ถือว่าเป็นหนึ่งใน milestone สำคัญของวงการฮอลลีวู้ด เพราะ Steven Yeun ได้เป็นนักแสดงเชื้อสายเอเชียคนแรกที่ได้เข้าชิงออสการ์สาขาดังกล่าว นอกจากเขาแล้ว คุณยายในเรื่องก็ได้เข้าชิงสาขา Best Performance by an Actress in a Supporting Role อีกด้วย
Minari เป็นหนังที่ให้ฟีลลิ่งที่อบอุ่น ภาพสวย เรื่อย ๆ แต่ไม่น่าเบื่อ เพราะเขาเล่าเรื่องชีวิตของเขาออกมาได้อย่างงดงามและชวนติดตาม ประกอบกับการแสดงที่ดูเรียลและเป็นธรรมชาติของนักแสดงนำทั้งแพ็ก ถึงแม้ว่าอาจจะยังไม่ได้ดีถึงเข้าขั้นมงลง แต่ตั้งแต่ Parasite, The Farewell, จนมาถึง Minari ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ทีมนักแสดงเอเชียก็มีคุณภาพไม่แพ้นักแสดงฮอลลีวู้ด และยังมีเรื่องราวของผู้คนเชื้อสายเอเชียที่ worth telling ไม่แพ้ฝั่งตะวันตก และยังรอการนำมาถ่ายทอดสู่สายตาชาวโลกอีกมากมาย
Minari ฉายแล้ววันนี้ในโรงภาพยนตร์