สายเกมเมอร์แทบทุกคนต่างรู้จัก Gran Turismo ของ PlayStation กันเป็นอย่างดี แต่อาจมีคนทั่วไปอยู่น้อยคนที่จะรู้ว่า Gran Turismo ไม่ใช่แค่ “เกมแข่งรถ” แต่เป็น “การแข่งรถในสนามจำลองเสมือนจริง” (Simulated racing หรือ sim racing) ที่เกิดจากผู้สร้างต้องการให้รถแข่งเป็นเกมกีฬาที่เข้าถึงได้กับทุกคนทุกชนชั้น แทนที่จะเป็นเพียงกิจกรรมของคนรวย
เรื่องย่อ Gran Turismo
บริษัทเกม PlayStation จึงได้ร่วมโปรดิวซ์ภาพยนตร์เรื่อง Gran Turismo เพื่อบอกเล่าอุดมการณ์และเรื่องราว “based on true stories” ของ Jann Mardenborough (Archie Madekwe จาก Midsommar) “เกมเมอร์” ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ GT Academy และเข้ารับการเทรนเป็น “นักแข่งรถ” ในสนามจริง โดยมีผู้เชี่ยวชาญกร้านสนามแข่งอย่าง Jack Salter (David Harbour จาก Black Widow) เป็นเทรนเนอร์
เช่นเดียวกับตัวเอกในหนังเกมกีฬาและหนังอัตชีวประวัติหลาย ๆ เรื่อง — Jann เป็น underdog เป็นเด็กผิวสี เกิดในครอบครัวชนชั้นกลาง และ Steve พ่อของเขา (Djimon Hounsou จาก Shazam!) ก็ไม่ได้สนับสนุนให้เขาเป็นนักแข่งรถ เพราะมองว่ามันเป็นไปไม่ได้สำหรับคนฐานะอย่างพวกเขา และเขาก็ไม่อยากให้ลูกต้องใช้ชีวิตอยู่แต่หน้าคอนโซลเกม แต่อยากให้ลูกกลับไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยและเล่นฟุตบอลอาชีพเหมือนกับเขาสมัยหนุ่ม
Jann ต้องพิสูจน์ตัวเอง โดยแข่งขันกับเพื่อนร่วมรุ่นในโครงการอีกหลายคน เพราะมีเพียงที่หนึ่งเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่จะได้เป็นตัวแทนไปแข่งในสนามแข่งจริง คู่แข่งคนสำคัญของเขาคือ Matty (Darren Barnet จาก Never Have I Ever) ซึ่งฝีมือสูสีกัน แต่ Matty มีความมั่นใจกว่า และนักการตลาดอย่าง Danny (Orlando Bloom จาก The Lord of the Rings) ก็มองว่า Matty เหมาะสมกว่าในด้าน PR & Marketing
ถึงแม้สุดท้ายมงจะลงที่ Jann แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น การแข่งขันในสนามจริงต่างหากที่สำคัญ เขาต้องลงแข่งอีกหลายสนามกับนักแข่งอาชีพ โดยเฉพาะลูกเศรษฐีอย่าง Nicholas Capa (Josha Stradowski) เพื่อได้รับใบอนุญาตเป็นนักแข่งอาชีพ และได้รับการสปอนเซอร์อย่างต่อเนื่องจาก Nissan

If you miss a line in the game, you reset. You miss it on the track, you could die.
Jack Salter
รีวิว วิเคราะห์ วิจารณ์ Gran Turismo
Gran Turismo อาจไม่ใช่หนังแข่งรถที่ดราม่าเข้มข้นและลุ้นระทึกถึงขั้นหลังติดเบาะ จนนักวิจารณ์ นักดูหนัง หรือขาซิ่งต่างยกนิ้วให้เท่ากับเรื่อง Ford v Ferrari หรือ Rush แต่เราคิดว่า Gran Turismo ก็มีธีมสำคัญบางอย่างที่คนดูทั่วไป รวมถึงเกมเมอร์ สามารถเข้าถึงและรู้สึกมีส่วนร่วมได้ง่าย
ประเด็นแรกคือ Parenting และ Mentoring ที่เราจะเห็นตั้งแต่ฉากเปิดเรื่องว่า ขีดความสามารถของ Jann ถูกจำกัดโดยความคิดเห็นและแรงกดดันจากผู้เป็นพ่ออย่างชัดเจน แต่โชคดีที่ Jann มั่นคงในทางที่ตัวเองเลือก และโฟกัสแต่คำสอนของพ่อที่คิดว่าเหมาะสมกับแนวทางของตน ประกอบกับยังดีที่เขายังมีแม่ที่เข้าใจ เชื่อมั่นและสนับสนุนเขา อีกทั้งยังมีน้องชายอีกหนึ่งคนที่ช่วยตามรอยเส้นทางนักบอลของพ่อแทนเขาแล้วด้วย
ถึงแม้ครอบครัวของ Jann จะมีอิทธิพลกับเขามาทั้งชีวิตมากมากแค่ไหน แต่ในหนัง เน้นที่ความสัมพันธ์ของเขากับเทรนเนอร์เป็นหลัก ซึ่ง David Harbour ถ่ายทอดบทบาทได้อย่างยอดเยี่ยมและแทบจะ steal the show กันเลยทีเดียว เรียกได้ว่า เขาแบกทั้งหนัง และแบกทั้ง Jann ให้ไปถึงเส้นชัย สิ่งที่เราชอบคือ ถึงแม้ว่าเขาจะมี trauma กับ 24 Hours of Le Mans (การแข่งขันข้ามวันข้ามคืนที่โหดสุด ๆ สนามเดียวกับฉากไคลแมกซ์ของเรื่อง Ford v Ferrari) แต่เขาก็ไม่เอาความล้มเหลวหรือข้อผิดพลาดในอดีตของตัวเองมาเหยียบเบรคหรือบอกกับลูกศิษย์ตัวเองว่า “มันเป็นไปไม่ได้” ตรงกันข้ามเขาสนับสนุนให้เหยียบคันเร่งอย่างเต็มที่เพื่อก้าวข้ามผ่านขีดจำกัดของตัวเอง

ถึงแม้หนังจะพยายามบอกว่า ทุกคนก็เป็นนักแข่งได้ ทุกคนก็สามารถ Follow Your Dream ได้ แต่หนังก็ไม่ได้บอกว่า มันง่ายถึงขนาดใคร ๆ ก็ทำได้ แน่นอนว่า การที่เราจะเปลี่ยนความฝันที่ยิ่งใหญ่ให้เป็นความจริงหรือความสำเร็จได้นั้น เราต้องกล้าเปลี่ยนแปลง และกล้าก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซนให้ได้ด้วย อย่างเช่นเด็กเนิร์ดอย่าง Jann ที่พอก้าวออกจาก “คอนโซลโซน” เขาก็ต้องออกกำลังกายหนักหน่วง เพื่อให้ร่างกายพร้อมในการขับรถแข่งในสนามจริง (แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เขามีพรสวรรค์และสัญชาตญาณซึ่งเป็นสิ่งที่สอนไม่ได้เป็นของดีติดตัวมาอยู่แล้วด้วย) หรือกระทั่ง Nissan ที่กล้ายอมซื้อไอเดียการตลาดที่แตกต่างนี้ทั้งที่มันฟังดูบ้ามาก ๆ ในตอนแรก
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่คนหลายคนบนโลกต่างพยายามทำตามความฝัน แต่คนที่ทำสำเร็จจริง ๆ จะมีเพียงแค่คนที่ยืนหยัดมากพอ โฟกัสมากพอ และไม่ยอมให้ใครหรืออะไรก็ตามมา hold back ซึ่งประเด็นที่เราชอบที่สุดคือคำสอนของ Jack ที่บอกว่า อย่าปล่อยให้ความผิดหวัง ความผิดพลาด หรือความล้มเหลวมา define เราได้ (เช่น มึงแพ้ว่ะ มึงเป็น loser ว่ะ) แต่ how we handle the situations นั้นต่างหาก ที่จะ define เรา
สุดท้าย Gran Turismo ถือเป็นหนังที่ inspiring และย้ำเตือนเราว่า การวิ่งตามความฝันเป็นการแข่งขันที่เราทุกคนล้วนสามารถเข้าร่วมได้หากได้รับการซัพพอร์ตที่ดีและมีชุดความคิดที่ถูกต้อง แต่เราคิดว่าถ้าหนังเน้นความสัมพันธ์ของ Jann กับเทรนเนอร์หรือครอบครัวมากกว่านี้ แทนที่จะไปเล่าความสัมพันธ์โรแมนติกของเขากับ Audrey (Maeve Courtier-Lilley) ซึ่งแทบไม่ส่งผลอะไรต่อหนังเลย หนังอาจจะทำพาร์ทดราม่าได้ดีกว่านี้ หรือทำไคลแมกซ์ที่ Le Mans ได้เข้มข้นกว่านี้ โดยการขายทีมเวิร์กกับเกมเมอร์หรือผู้ร่วมทีมให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งอาจช่วยให้หนังมัน inspiring ได้มากกว่านี้ว่า วิดีโอเกมช่วยสร้างแรงบันดาลใจและจุดประกายความฝันให้กับคนหลายคนได้จริง ๆ ไม่ใช่แค่กับ Jann เพียงคนเดียว