On the Basis of Sex เล่าเรื่องของ Ruth Bader Ginsburg ตั้งแต่สมัยยังสาว (Felicity Jones จาก Rogue One: A Star Wars Story และ The Theory of Everything) ก่อนที่จะมาเป็นผู้หญิงคนแรกที่ลุกขึ้นมาร่างกฎหมายคุ้มครองสตรีในยุค 1970s และเป็นหนึ่งในอัยการศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน
Last week I was told women are too emotional to be lawyers.
ในหนังเรื่องนี้ เราจะได้รู้จัก Ruth ตั้งแต่ยุค 1950s ซึ่งเป็นยุคที่ผู้หญิงยังอยู่ยากกว่าปัจจุบันมากนัก ณ ตอนนั้น เธอเป็นนักศึกษาหญิงเพียง 1 ใน 9 คน ท่ามกลางนักศึกษาชายกว่า 500 คนที่ได้รับการคัดเลือกเข้าเรียนที่ Harvard Law School เมื่อเรียนจบแล้ว ก็ไม่มีสำนักทนายความหรือบริษัทไหนรับเธอเข้าทำงานเป็นทนาย ทั้งที่เธอสอบได้คะแนนเป็นที่ 1 ของรุ่นและมีประวัติการศึกษาดีเยี่ยมมาโดยตลอด ทั้งหมดนี้ก็เพียงเพราะเธอเป็นผู้หญิง เธอจึงต้องไปเป็นอาจารย์ที่ Rutgers College แทน ในขณะที่สามีของเธอ Marty Ginsburg (Armie Hammer จาก Call Me by Your Name) ไปได้ดีในสายงานเกี่ยวกับกฎหมายภาษี
ประเด็นสำคัญของเรื่อง ที่เป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในหน้าประวัติศาตร์อเมริกา เกิดขึ้นเมื่อ Ruth และ Marty ได้ทำคดีของ Charles Moritz (Chris Mulkey จาก) ชายโสดที่ต้องการนำค่ารักษาพยาบาลและค่าเลี้ยงดูแม่ของเขาไปหักภาษี แต่เขาทำไม่ได้ เพราะกฎหมาย ณ เวลานั้นกำหนดว่า ต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้นที่จะนำค่าเลี้ยงดูบิดามารดาไปใช้หักภาษีได้
The law assumes a caregiver has to be a woman. This is sex based discrimination against a man.
ช่วงประเด็นสำคัญของคดีนี้มาช้าไปสักหน่อย เพราะช่วงแรกปูเรื่องเยอะ และก็เล่าเรื่องตามไทม์ไลน์ตามสูตรไปนิดด้วย แต่ก็เข้าใจนะว่าของมันต้องปู เพื่อให้คนดูเห็นความไม่เท่าเทียมทางเพศที่ Ruth ต้องประสบ นอกจากนี้ Jayne ลูกสาววัยรุ่นของ Ruth (Cailee Spaeny จาก Pacific Rim: Uprising) ก็เป็นอีกเบื้องหลังคนสำคัญด้วย ที่ทำให้ Ruth ต้องลุกขึ้นสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมายต่าง ๆ นี้ และทำมันได้สำเร็จในที่สุด
อย่างไรก็ตาม เรารู้สึกว่า หนังก็ยังดูไม่โปรเฟสชันนัลในการเล่าเรื่องเท่าที่ควร เหมือนเขายังให้น้ำหนักของพื้นหลังเรื่องชีวิตส่วนตัว เช่นการเรียนและครอบครัว ของ Ruth กับคดีของ Charles Moritz ได้ไม่ค่อยสมสัดสมส่วน ทั้งนี้ อาจจะเพราะ บทภาพยนตร์เขียนโดย Daniel Stiepleman ซึ่งเป็นหลานของ Ruth ด้วยก็ส่วนหนึ่ง
แต่ไดอะล็อกหรือบทพูดของตัวละครทุกตัวนั้น ยอมรับว่าเขาเขียนได้ดี เฉียบ และทรงพลัง ทั้ง ๆ ที่หนังเต็มไปด้วยเรื่องราวและศัพท์แสงเกี่ยวกับกฎหมายที่ค่อนข้างเข้าใจยากสำหรับคนดูทั่วไป แต่ก็ยังรู้สึกว่า เออ… มันดี ยิ่งตัวละครนั้นถูกสวมบทบาทโดยนักแสดงหญิงแกร่งและเก่งอย่าง Felicity Jones ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทรงพลังเข้าไปอีก โดยรวมจึงไม่ใช่หนังที่น่าเบื่อแต่อย่างใด
ในทางตรงกันข้าม หนังห่างไกลจากคำว่าน่าเบื่อไปมาก มันเป็นหนังที่ดูเพลิน ดูสนุก ชวนติดตาม และรู้สึกจุดประกายตั้งแต่ต้นจนจบเลยแหละ ถ้าให้สรุปนิยามหนังเรื่องนี้ ก็คงบอกว่า It is not the best film, but it is a very inspirational film ที่ควรมาดูกันทุกเพศทุกวัย เพื่อปลุกพลังในตัวคุณให้อยากลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างในสังคมอย่างที่ Ruth ทำมาตลอดทั้งชีวิตของเธอ (ปัจจุบันเธอยังมีชีวิตอยู่ และอายุ 85 ปี)
Protests are important, but changing the culture means nothing if the law doesn’t change.
เพราะ Ruth เคยยืนอยู่ในจุดที่ “อะไร ๆ ก็ดูเป็นไปไม่ได้สำหรับเธอ” แต่เธอก็ทำได้… เธอเป็นยิว เธอเป็นผู้หญิง แถมแต่งงานมีลูกและสามีแล้วด้วย… ในยุคสมัยนั้น ที่ยืนของผู้หญิงเหมือนจะมีอยู่แค่ในครัว หรือถ้าออกมานอกบ้านและงานสังคม ผู้หญิงเป็นแค่คู่ควง หรือเป็นช้างเท้าหลังของบ้าน
หนึ่งในฉากที่เราชอบในหนังเรื่องนี้คือ ฉากที่ Ruth ไปงานเลี้ยงกับสามีของเธอ เธอยืนอยู่ตรงกลางงาน ระหว่างกลุ่มผู้ชายล้วนที่กำลังยืนล้อมรอบสามีของเธอ ฟังสามีของเธอคุยจ้อเรื่องกฎหมายภาษี กับกลุ่มผู้หญิงล้วน (อารมณ์เหมือนภรรยาของผู้ชายที่มาในงาน) ที่คงนั่งคุยกันเรื่องสัพเพเหระตามประสาสาว ๆ ซึ่งเราเข้าใจเธอนะว่า เธออยากจะเข้าไปร่วมวงสนทนากับวงไหนมากกว่า แต่มันก็มีข้อจำกัดบางอย่างอยู่ เราคิดว่า เธอน่าจะมีแว้บหนึ่งที่คิดในใจว่า ไม่มีวงไหนเป็นที่ของเธอโดยสมบูรณ์ และสักวันเธอจะต้องทำให้การแบ่งแยกนั้นพังทลายลงให้จงได้
The pen หรือ words ที่ถูกร่างลงไปในประมวลกฎหมาย กำหนดบทบาททางสังคมโดยท่ีเราไม่รู้ตัวมาโดยตลอด เช่น ผู้ชายต้องออกไปทำงาน ผู้หญิงต้องทำงานบ้าน (ทั้งที่จริง ๆ แล้ว Ruth เก่งกฎหมายมากกว่าทนายผู้ชายหลายคน และสามีของเธอเองก็ทำอาหารอร่อยกว่าเธอ) เธอรู้ดีว่า ตราบใดที่กฎหมายยังเขียนแตกต่างกันโดยใช้เพศเป็นตัวกำหนดกฎเกณฑ์อยู่แบบนี้ สังคมจะไม่มีวันมีความเท่าเทียมทางเพศเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
เราเองก็เห็นด้วยว่า การใช้คำ หรือ wording ที่เลือกใช้มันสำคัญจริง ๆ นะ เช่น คำว่า gender กับ sex ก็ให้ความหมายและอารมณ์ที่แตกต่างกัน เราจึงต้องเลือกใช้มันให้เหมาะสมกับบริบทและสถานการณ์ หรือในส่วนของการตอบโต้ในชั้นศาล การเลือกใช้คำนั้น ก็เปลี่ยนอารมณ์ สถานการณ์ หรือแม้แต่ผลลัพธ์ของรูปคดีเลยก็ย่อมได้
If the law differentiates on the basis of sex, then how will women and men ever become equals?
ทุกวันนี้กฎหมายหลายข้อ รวมถึงอิสรภาพและความเท่าเทียมทางเพศในสังคม ก็แตกต่างจาก 50-60 ปีที่แล้วมากโข พวกเราในทุกวันนี้ได้รับอนุญาตให้เรียนและทำงานตามความรู้ความสามารถโดยไม่มีข้อจำกัดทางเพศมาขวางกั้น ก็เพราะในวันนั้นผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งไม่ยอมแพ้ที่จะพิสูจน์ให้โลกเห็นว่า เพศสภาพโดยกำเนิด รวมถึงบทบาทการเป็นภรรยาและแม่ของลูก ไม่ใช่อุปสรรคในการเรียนหรือทำงานด้านกฎหมาย และตัวกฎหมายเองก็ต้องเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาและบริบทของสังคมในแต่ละยุคสมัย
แน่นอนว่า มันจะเป็นไปไม่ได้ที่เธอจะเปลี่ยนทุกข้อกฎหมายที่เข้าข่าย sexism ได้ในทันที ทุกวันนี้ความไม่เท่าเทียมก็ยังคงหลงเหลืออยู่บ้างในสังคมและในประมวลกฎหมายหลายประเทศ แต่ในวันนั้น เธอได้เริ่มต้น ได้เปิดทางและปูทางให้คนรุ่นหลังเดินตามได้ง่ายขึ้น เสมือนดรัมเมเยอร์เดินนำขบวนพาเหรด
A court ought not be affected by the weather of the day, but will be by the climate of the era.
เราชอบ On the Basis of Sex มากเมื่อดูหนังจบลง แต่ถ้าถามว่าเป็นหนังดีหนังรางวัลได้เลยมั้ย มันอาจจะไม่ได้ไปถึงขั้นนั้น แต่ถ้าพูดในแง่ inspiational เราคิดว่าหนังเรื่องนี้มันใช่มาก เมื่อหนังเรื่องนี้เข้าฉาย สมมติมีคนดู 100 คน และมีคนแค่ 1 คนที่กล้าเปลี่ยนแปลงได้อย่างที่ Ruth Bader Ginsburg ทำในวันนั้น เราคิดว่า นั่นอาจจะบรรลุวัตถุประสงค์ในการสร้างหนังเรื่องนี้ของเขาแล้วก็ได้
คะแนนตามความชอบส่วนตัว 8/10
103 comments
Comments are closed.