Mona Lisa Smile (2003) เป็นเรื่องราวในรั้ว Wellesley College โรงเรียนประจำหญิงล้วนที่มีชื่อในด้านศาสตร์ Liberal arts และความอนุรักษ์นิยม (Conservatism) ในยุค 1950s ปีที่ Katherine Ann Watson (Julia Roberts) มาประจำเป็นครูสอนวิชา Art History คนใหม่
Katherine เป็นเฟมินิสต์ เป็นคนหัวก้าวหน้า (Progressive) และต้องการเปลี่ยนแปลงค่านิยมคร่ำครึของ Wellesley College โดยเฉพาะระบบการเรียนการสอนที่ ‘Too Traditional’ ล้าหลังและปลูกฝังให้เด็กนักเรียนจบไปเป็น “ภรรยาของผู้นำ” มากกว่าจบไปเป็น “ผู้นำของสังคม” (ถึงขนาดมีวิชาสอนการพูด กิริยามารยาท และการเข้าสังคมอย่างเป็นเรื่องเป็นราว)
Katherine ไม่เห็นด้วยกับคำสอนที่ว่า “Your sole responsibility will be taking care of your husband and children.” และเธอก็เคยพูดเสียดสีประชดประชันกับอาจารย์ใหญ่ด้วยว่า “I thought I was headed to a place that would turn out tomorrow’s leaders — not their wives.”
เนื่องจากที่ Wellesley College สนับสนุนให้เด็กแต่งงาน ถึงแม้จะยังเรียนไม่จบหลักสูตรก็ออกเรือนได้ แถมมีสิทธิพิเศษให้อีกต่างหาก ประเด็นที่ Katherine ถูกถามบ่อยๆ ก็คือเรื่องชีวิตคู่ของเธอ ว่าทำไมอายุอานามขนาดนี้แล้วยังไม่แต่งงาน แต่อย่างที่บอกว่า Katherine เป็นเฟมินิสต์ เธอยอมอยู่ห่างไกลกับแฟนหนุ่ม จาก California มาหลายร้อยไมล์ เพื่อจะมาเปลี่ยนแปลง Wellesley College ที่ Massachusetts
‘It’s your choice ladies; you can conform to what people expect of you or you can —
— be ourselves, I know.’
แน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงความคิดและประเพณีที่เก่าแก่นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย บอร์ดบริหารของโรงเรียนเพ่งเล็ง Katherine เป็นพิเศษ รวมถึง Elizabeth ‘Betty’ Warren (Kirsten Dunst) ที่ต่อต้านรูปแบบการสอนของ Katherine
ซึ่งก่อนหน้านี้ Betty ก็ได้เขียนบทความประเด็นที่ Amanda Armstrong (Juliet Stevenson) ครูพยาบาล แจกถุงยางอนามัยให้เด็กนักเรียน ลงนสพ. ของโรงเรียน โดย Betty เขียนว่า การแจกถุงยางฯ เป็นเรื่องไม่สมควร เพราะถือเป็นการสนับสนุนให้เด็กนักเรียนมีเพศสัมพันธ์ จน Amanda ต้องถูกไล่ออกจากโรงเรียน
Betty แต่งงานกับนักเรียนหนุ่มไฮโซจากรั้วชายล้วน Harvard University ทั้งที่ยังเรียนอยู่ อย่างไรก็ตามชีวิตหลังการแต่งงานของเธอก็ไม่ได้สวยงามอย่างที่เธอฝันไว้ สามีของเธอทำเหมือนเธอไม่มีค่าและทิ้งเธอไปมีเมียน้อย
Betty เริ่มเข้าใจที่ Katherine พร่ำสอน ว่าการแต่งงานไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต เธออยากหย่าและไปเรียนต่อสูงๆ แต่แม่ของเธอห้ามไว้ เพราะสังคมสมัยนั้นไม่ยอมรับผู้หญิงม่ายและการหย่าร้างจะทำให้เสียหน้าในวงสังคมชั้นสูงของหล่อน
‘Do you smile to tempt a lover, Mona Lisa, or is this your way to hide a broken heart?’
Katherine ได้จุดประกายและเป็นที่รักของเด็กนักเรียนมากมาย โดยเฉพาะเพื่อนสนิทของ Betty อย่าง Joan Brandwyn (Julia Stiles) เด็กสาวที่เก่งรอบด้านและสอบติด Yale Law School ได้ด้วยคำแนะนำของ Katherine (สมัยนั้น Yale Law School รับผู้หญิงเข้าเรียน จำกัดแค่ปีละ 5 คน และให้โควต้า Wellesley College แค่เก้าอี้เดียวเท่านั้น)
อย่างไรก็ตาม สุดท้าย Joan ก็ต้องเลือกอยู่ดีว่าจะไปเรียนกฎหมายต่อหรือแต่งงานกับแฟนหนุ่มทันทีที่เรียนจบจาก Wellesley College แต่ Katherine ก็พยายามสอนว่าผู้หญิงเราสามารถทำสองอย่างไปพร้อมๆ กันได้
นอกจาก Joan ยังมีนักเรียนอีกคนที่ชื่นชม Katherine และยกให้เป็น Role Model นั่นคือ Giselle Levy (Maggie Gyllenhaal) เด็กสาวที่ชอบมีเซ็กส์กับผู้ชายไปเรื่อย โดยเฉพาะกับชายที่แก่กว่า อย่าง Bill Dunbar (Dominic West) ครูสอนวิชาภาษาอิตาเลียน
ซึ่งถ้าพูดตามเนื้อผ้า Giselle Levy ก็เป็นอีกหนึ่งตัวละครที่เป็นตัวแทนของ Feminist อีกรูปแบบหนึ่ง กล่าวคือเธอเป็นสตรีเพศที่ใช้เรือนร่างในการควบคุมและครอบงำบุรุษเพศนั่นเอง ไม่ได้ร่าน
Katherine พยายามเปิดให้เด็กๆ เห็นว่า เราไม่จำเป็นต้องคิดตามตำราหรือทำตามขนบธรรมเนียมประเพณีทุกกระเบียดตารางนิ้วเสมอไป ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่จะคิดและทำอะไรก็ได้ตามที่เราต้องการ และสอดแทรกความคิด Feminism ผ่านการสอนในรายวิชาของเธอว่า เราไม่จำเป็นต้องอยู่ใน stereotypes หรือมีบทบาทแค่เท่าที่สังคมตีกรอบ ผู้หญิงยุคใหม่สามารถเป็นได้มากกว่าแม่บ้านหรือแม่ของลูกที่อยู่แต่เหย้าเฝ้าแต่เรือน
ในฉากหนึ่งของหนัง Katherine ฉายสไลด์เกี่ยวกับใบปิดโฆษณาที่มีรูปผู้หญิงปรากฏอยู่ในอิริยาบถและบทบาทต่างๆ ซึ่งสะท้อนความไม่เท่าเทียมทางเพศ (Gender Inequality) ในสังคมได้เป็นอย่างดี
นอกจาก Feminism แล้ว Katherine ยังพยายามสอนให้เด็กคิดและเรียนรู้ด้วยความคิดของตัวเอง เธอสอนเด็กๆ ว่า เราไม่จำเป็นต้องเดินตาม template ที่เขาวางไว้ โดยในคลาสเรียนหนึ่ง เธอให้เด็กๆ วาดรูป ‘Sunflowers’ ของ Van Gogh ในแบบของตนเอง (ฉาก paint-by-numbers ‘Sunflowers’) และเอา Contemporary Art และ Modern Art นอกเหนือจากในหลักสูตรมาสอน
ทั้งนี้จุดเริ่มต้นของการปฏิวัติคือ ในคลาสแรก เธอสอนตาม couse syllabus (ประมวลรายวิชา) ของทาง college และพบว่าเด็กนักเรียนทุกคนได้อ่านและท่องจำเนื้อหาในตำราได้ทุกหน้า เช่น ภาพนี้ชื่อภาพอะไร ใครวาด วาดปีไหน และภาพสื่ออะไร (อย่าลืมว่าสถาบันนี้เป็นที่ที่รวมหัวกะทิของประเทศเอาไว้)
นอกจากนี้การเขียนเปเปอร์ส่งและการทำข้อสอบก็สำคัญ Katherine ไม่ยอมให้เด็กลอกความคิดในตำรามาเขียนส่งเอาคะแนนจากเธอแล้วได้เกรด A ไปอย่างง่ายๆ เธอพยายามทำทุกทางเพื่อกระตุ้นให้เด็กคิดและวิเคราะห์ด้วยตัวเองว่า สิ่งที่เรียนอยู่นั้นสื่อถึงอะไรและมีความพิเศษอย่างไร
แรกๆ เด็กนักเรียนทุกคนก็งงๆ และยังไม่ชินกับการเรียนการสอนแบบ Katherine’s style แต่ในที่สุด พวกเธอก็ค่อยๆ ปรับตัวและชอบวิธีคิดแบบ Katherine กันถ้วนหน้า
และคงเป็นเรื่องโชคดีของผู้หญิงในยุคปัจจุบันนี้ ที่ผู้หญิงรุ่น since 1950s ทั้งหลายนั้น… เจริญรอยตาม Katherine Ann Watson…
162 comments