“We rip out so much of ourselves to be cured of things faster than we should that we go bankrupt by the age of thirty and have less to offer each time we start with someone new. But to feel nothing so as not to feel anything – what a waste!”
เรื่องราว Call Me by Your Name เกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนปี 1983 ณ ทางตอนเหนือของอิตาลีอันแสนสุขสงบ เมื่อชายอเมริกันรูปงาม Oliver (Armie Hammer จาก The Social Network) มาพักอยู่ที่บ้านของ ศจ. Perlman (Michael Stuhlbarg จาก The Shape of Water) และภรรยาชาวอิตาเลียน Annella (Amira Casar) เป็นเวลา 6 อาทิตย์ เพื่อช่วยทำงานวิจัย
ในเวลาเพียงไม่นานเขาก็ตกหลุมรักกับ Elio (Timothée Chalamet จาก Lady Bird) ลูกชายวัย 17 ปีของเจ้าบ้าน ซึ่ง ณ ตอนนั้นก็เหมือนจะคบ ๆ คุย ๆ อยู่กับเพื่อนสาวฝรั่งเศส Marzia (Esther Garrel) นั่นคือจุดที่ Elio ต้องค้นหาตัวเอง… เปิดเผย และปกปิดตัวเอง…
Call Me by Your Name เป็นหนังที่คนไทยได้เข้าใกล้ออสการ์ที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะหนังเข้าชิงออสการ์ 4 สาขาเรื่องนี้ (รวมถึงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี) มีผู้กำกับภาพเป็นคนไทย นั่นคือคุณ Sayombhu Mukdeeprom (จาก Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives หรือ ลุงบุญมีระลึกชาติ (2553)) ซึ่งถึงแม้เขาจะยังไม่ได้เข้าชิงออสการ์สาขาการกำกับภาพยอดเยี่ยม แต่ก็ได้รับคำชมอย่างล้นหลาม และได้เข้าชิงบนเวทีอื่น ๆ อยู่บ้างเหมือนกัน เช่น เวที Critics Choice Award, Indiewire Critics’ Poll ฯลฯ
โดยส่วนตัวของเราก็มองว่า งานภาพของเรื่องนี้มีความละมุน สวยงาม ดูเพลิน สบายตา และชวนดึงดูดอย่างบอกไม่ถูก ประกอบกับวิถีชีวิตอันเรียบง่ายกับบ้านเมืองอันสวยงามของพวกเขาเอง ที่ทำให้เราหลงใหลและชื่นชมมันอย่างไม่รู้สึกเบื่อ
สองตัวหลักของเรื่อง อย่าง Armie Hammer และ Timothée Chalamet ก็มีความหล่อเหลาเอาการปานเทพบุตรหรือถอดแบบมาจากรูปปั้นกรีก โดยเฉพาะนุ้งคนหลังที่มองกี่ทีก็ชวนเคลิ้ม การแสดงก็โดดเด่นจนเตะตากรรมการออสการ์ ยิ่งซีนสุดท้ายนี่ทำให้คนดูเจ็บปวดตาม เหมือนถูกบีบหัวใจไปพร้อม ๆ กับนุ้ง
ด้วยความเป็นหนังเกี่ยวกับความรักชายกับชายที่เซตสตอรี่ไว้ช่วงปี 1980s ถ้าเป็นหนังรักแฮปปี้ชื่นมื่น นั่นก็คงแปลกประหลาด ยิ่งเป็นหนังความรักฤดูร้อนด้วยแล้ว ย่อมคาดเดาได้ล่วงหน้าลยว่า ความรักครั้งนี้ต้องไม่ยั่งยืนด้วยเหตุผลประการใดประการหนึ่ง หรืออาจจะมีทั้งสุขสมหวังและเศร้าผิดหวังคละเคล้ากัน คนที่จะเข้าไปดูหนังเรื่องนี้จึงอาจจะต้องเตรียมตัวเตรียมใจที่จะเข้าไปเจ็บปวดประมาณหนึ่ง
แต่หากใครคาดหวังจะเข้าไปดูฉากเซ็กส์ที่หวือหวาฉบับชายรักชาย คุณจะไม่ได้เห็นมันในหนังเรื่องนี้ เพราะ Luca Guadagnino (ผู้กำกับ A Bigger Splash) ถ่ายทอดมุมมองความรักของผู้ชายสองคนในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์ธรรมดา ที่มีความรักและความสัมพันธ์เหมือนกับคู่รักชายกับหญิงทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นในช่วงพบรัก แอบชอบ บอกรัก คบหาพูดคุย หรือกระทั่งตอนมีเพศสัมพันธ์ พวกเขามีความรู้สึกและความปรารถนาเหมือนกับคู่รักชายหญิง ต่างกันอยู่แค่ว่าสังคมยังไม่ยอมรับ
หนังเรื่องนี้คือหนังรักที่จะทำให้คนดูเข้าใจและเปิดใจมากขึ้นกับความรักของพวกเขา อีกทั้งให้เรารู้จักเก็บเกี่ยวช่วงเวลาที่มีความสุขและคิดถึงมันให้มากกว่าความเศร้าโศก และที่แน่ ๆ หนังมีความละมุนจริง ๆ นิยามได้คำเดียวเลยว่า “ละมุน” และที่สำคัญ นี่เป็นหนังตอนจบก็ “กัดกิน” หัวใจเรามากที่สุดเรื่องหนึ่งเท่าที่เคยดูมา
คะแนนตามความชอบส่วนตัว 8/10
43 comments
Comments are closed.