หน้าหนังอาจชวนให้เชื่อว่า นี่ก็เป็นหนังรอมคอมอีกเรื่องที่เล่าเรื่องราวของ “ชายสอง หญิงหนึ่ง” หรือ “แม่ม่ายสาวใหญ่ กับไอ้ต้าวหมาเด็ก” แต่จริง ๆ แล้ว Bridget Jones: Mad About the Boy สะท้อนชีวิตได้ดีมาก ๆ โดยในภาคนี้มีธีมหลักเกี่ยวกับ “อายุ” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ “การเริ่มต้นใหม่ในวัยกลางคน” หรือ “วุฒิภาวะกับอายุ” จนไปถึง การรับมือและการอยู่กับ “ความสูญเสีย”
Bridget Jones’s Diary มักถูกมองเพียงผิวเผินว่าเป็นหนังความรักของสาวมโนหรือนางวันทองสองใจ มาตั้งแต่หนังภาคแรกเข้าฉายเมื่อปี 2001 เช่นเดียวกับที่บางคนอาจมองว่า การเขียนไดอารี่ ก็เป็นแค่การเขียนบันทึกประจำวันที่เพ้อเจ้อ แต่แท้จริงแล้ว ธีมหลักของทั้ง หนัง Bridget Jones’s Diary และ การเขียนไดอารี่ มันคือ “การเติบโต”
แฟนหนังหรือแฟนหนังสือนิยายที่เติบโตมากับ Bridget Jones’s Diary หลายคนจึงได้เรียนรู้ชีวิต ทั้งการงาน ความรัก การใช้ชีวิต และการค้นหาตัวตน ผ่านเรื่องราวอันยุ่งเหยิงของเธอมากว่ายี่สิบปี
“อายุปูนนี้แล้ว หาแฟนใหม่ยาก ถ้าเป็นผู้ชายก็ว่าไปอย่าง”

ในขณะที่หนังรอมคอมเกือบทุกเรื่องมักจบแบบ happy ending เช่น พระนางจูบกัน แต่งงานกัน แต่ชีวิตจริงมันไม่ได้จบแค่นั้น และก็อาจจะไม่ได้ happy เสมอไป เช่นเดียวกับเรื่องราวของ Bridget Jones (Renée Zellweger) ที่ได้ลงเอยกับ Mark Darcy (Colin Firth) ไปแล้วในภาคก่อนหน้า แต่เรื่องราวของเธอก็ยังไม่จบ
Bridget Jones: Mad About the Boy หนังภาคที่ 4 ของ Bridget Jones’s Diary เล่าเรื่องของเธอใันวัย 50 ที่ต้องเป็นแม่ม่ายลูกติดกะทันหัน แล้วเธอต้องพยายามใช้ชีวิตต่อไป เริ่มต้นใหม่ในวัยกลางคน และมี role model ที่ดีของลูก ๆ ท่ามกลางคำแนะนำหรือคำวิจารณ์จากคนรอบข้างที่มีต่ออายุ รูปร่างหน้าตา และเซ็กส์ไลฟ์ของเธอ เช่น ความคิดเห็นที่เหยียดเพศอย่าง “อายุปูนนี้แล้ว หาแฟนใหม่ยาก ถ้าเป็นผู้ชายก็ว่าไปอย่าง”
ในภาคนี้ Bridget Jones มีหนุ่มหน้าใหม่สองคนสองวัยมาชวนให้ปวดเฮดกลุ้มฮาร์ต ตั้งแต่ คุณครูที่โรงเรียนของลูก ๆ อย่าง Scott Wallaker (Chiwetel Ejiofor) และต้าวหมาเด็กสุดฮอตอย่าง Roxster McDuff (Leo Woodall) แต่หนังก็ไม่ได้โฟกัสที่ความรักขนาดนั้น
Bridget Jones: Mad About the Boy มาเพื่อให้พวกเราทบทวนว่า “อายุเป็นเพียงตัวเลข” เช่น ตัวละครผู้ใหญ่บางคน เช่น ผู้ปกครองบางคนในโรงเรียน ก็ยังทำตัวเป็นเด็ก ในขณะที่เด็กบางคนก็มีความเป็นผู้ใหญ่ เช่น Chloe (Nico Parker) พี่เลี้ยงเด็กที่ Bridget Jones จ้างมาช่วยดูแลลูก ๆ ของเธอ ที่สำคัญ ไม่มีใครแก่เกินกว่าจะเริ่มต้นใหม่ ทุกคนมีค่าควรแก่การใช้ชีวิตและมีความสุข
ในแง่ของความรัก-ความสัมพันธ์ อายุก็ไม่สำคัญเช่นกัน เพียงแค่สุดท้าย ในระยะยาว เราต้องมองหาความสัมพันธ์ที่ “feel like home” หรือเป็นบ้านให้กับเรา ต้องหาคู่ชีวิตที่เข้าใจ เอาใจใส่ พึ่งพาได้ และมีความเป็นผู้ใหญ่ ไม่ใช่หาแต่ความสนุกตื่นเต้นไปวัน ๆ เพราะมิเช่นนั้น สุดท้ายแล้ว ปลายทางชีวิตอาจโดดเดี่ยวหรือว่างเปล่าได้ อย่างเช่นชีวิตของเพลย์บอย Daniel Cleaver (Hugh Grant) กิ๊กเก่าของ Bridget Jones
นอกจากนี้ ในขณะที่หนังรอมคอมมักเล่าถึงแต่การหาหรือการเจอคู่รัก แต่ Bridget Jones: Mad About the Boy พูดถึงการใช้ชีวิตต่อไปในวันที่คนรักไม่อยู่แล้ว สอนให้รับมือกับความสูญเสียและความเจ็บปวด อยู่กับปัจจุบัน และโฟกัสกับสิ่งที่เหลืออยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ ในทุก ๆ ความสัมพันธ์
ถ้าใครยังไม่เคยดู อยากให้ลองเปิดใจกับ Bridget Jones: Mad About the Boy ดู (โดยไม่จำเป็นต้องดูภาคก่อนหน้ามาก่อน) เพราะนี่เป็นหนังรอมคอมที่ไม่ใช่แค่สนุก ตลกทันยุคทันสมัยเท่านั้น แต่ยังสะท้อนชีวิต ทั้งผู้หญิงวัยกลางคน คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว และการเติบโตในแต่ละช่วงวัยได้อย่างดี อีกทั้งเตือนสติว่า “ถึงเวลาออกไปใช้ชีวิตแล้ว”
อย่าเชื่อใครก็ตามที่บอกว่า เราแก่เกินกว่าจะเริ่มต้นใหม่