จำได้ว่า เกือบสิบปีก่อน เราดูหนัง The Da Vinci Code (2006) ของผู้กำกับ Ron Howard แล้วอินมาก แต่เนื่องจากหนังดำเนินเรื่องไว หลายจุดเราไขปริศนาคิดตามตัวละครไม่ทัน เราเลยไปหาหนังสือนิยายของ Dan Brown มาอ่าน พออ่านเรื่องราวในหนังสือ The Da Vinci Code (2003) โดยละเอียดแล้ว เราก็ยิ่งอินไปกันใหญ่ หนังสือสนุกกว่าหนังจริง ๆ ทำให้ตอนนั้นเราหลงใหลศิลปะวัฒนธรรมตะวันตก โดยเฉพาะอิตาลี จนถึงขั้นเกือบเป็นเอามาก
สามปีต่อมา Ron Howard กำกับ Angels and Demons (2009) จากนิยายอีกเล่มหนึ่งในซีรีส์การไขปริศนาของ Professor Robert Langdon แต่เรารู้สึกว่าหนัง Angels and Demons ค่อนข้างน่าเบื่อและน่าสนใจน้อยกว่าหนัง The Da Vinci Code เราดูจบแล้วก็จบไป ไม่ได้อยากไปหาหนังสือ Angels & Demons (2000) มาอ่านต่อแต่อย่างใด
เวลาผ่านไป 8 ปี Ron Howard ได้กลับมากำกับหนังแฟรนไชส์ Inferno อีกครั้ง โดยได้ Tom Hanks คนเดิมมารับบท ศจ. Robert Langdon คนเดิม (เพิ่มเติมคืออายุ) ประกบกับนางเอกดาวรุ่งพุ่งแรง Felicity Jones จาก The Theory of Everything แต่จนแล้วจนรอด ผลลัพธ์ที่ออกมาคือ ผู้กำกับคนดังก็ยังไม่สามารถแก้มือของเขาได้เลย
Inferno คืออะไร แปลว่าอะไร
ชื่อเรื่อง Inferno เป็นภาษาละตินแปลว่า “นรก” โดยได้อิทธิพลมาจากกวี Divine Comedy ผลงานชิ้นเอกของ Dante Alighieri นักกวีนิพนธ์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวอิตาเลียนแห่งศตวรรษที่ 13-14 โดยในหนังสือของ Dante บรรยายถึงการเดินทางไปสู่พระผู้เป็นเจ้า โดยก้าวแรกคือการปฏิเสธบาป ในบทกวีนี้ ตัวผู้เขียนถูกนำตัวผ่านนรกทั้งเก้าขุม ที่ซึ่งเขาได้เห็นคนบาป เช่น นักการเมืองคดโกง กำลังถูกลงโทษด้วยวิธีต่าง ๆ อย่างสาสม (อารมณ์เหมือน ไตรภูมิพระร่วง)
เรื่องย่อ Inferno
ศจ. Robert Langdon (Tom Hanks) ศาสตราจารย์ด้านสัญลักษณ์วิทยา (Symbology) แห่ง Harvard University ตื่นขึ้นมากลางโรงพยาบาลแห่งหนึ่งของเมืองฟลอเรนซ์ อิตาลี พบว่าตัวเองได้รับบาดเจ็บและสูญเสียความจำบางส่วน
ดร. Sienna Brooks (Felicity Jones) มีหน้าที่ช่วยศจ. Langdon รื้อฟื้นความทรงจำ และร่วมเดินทางไปทั่วยุโรปเพื่อหยุดยั้งไม่ให้ Bertrand Zobrist นักชีววิศวกรสติเฟื่อง (Ben Foster) ปลดปล่อยไวรัสร้ายที่จะคร่าชีวิตประชากรครึ่งโลกได้สำเร็จ
รีวิว วิเคราะห์ วิจารณ์ Inferno
ถึงแม้ว่า The Da Vinci Code และ Angels and Demons จะเป็นบทนำ (prequels) สำหรับแฟรนไชส์เรื่องนี้ แต่ทุกคนก็สามารถดู Inferno ได้รู้เรื่องถึงแม้จะไม่เคยดูภาคก่อน ๆ มาก่อนเลย เพราะเนื้อหาแต่ละภาคมันอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง แต่ละภาคก็เป็นการผจญภัยครั้งใหม่ สืบสาวเรื่องใหม่ และภารกิจใหม่ ไม่ได้ต่อเนื่องกันซะทีเดียว
โดยส่วนตัว เราดูหนังมาครบทั้ง 3 ภาคแล้ว เรียงลำดับความชอบจากมากไปน้อยได้ดังนี้: The Da Vinci Code > Inferno > Angels and Demons ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ชอบ Inferno มากกว่า Angels and Demons ก็เพราะนางเอก Felicity Jones และโรง 4DX นี่แหละที่ช่วยเพิ่มความบันเทิงให้ไม่ง่วงสักนาที (เพราะมันสั่นสะเทือนหรือเป่าลมใส่ฟิ้ว ๆ แทบตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง)
ถ้ามองว่า Inferno เป็นหนังไล่ล่าทั่วไป มันก็ไม่ได้เลวร้ายหรอก ดูบันเทิงในระดับหนึ่งเลยล่ะ โดยเฉพาะหากเป็นคนที่ชอบศิลปะ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ยุโรปตะวันตกด้วยแล้ว ก็ยิ่งรู้สึกบันเทิง แล้วในองก์สุดท้ายในโรงโอเปร่าก็ทำได้ลุ้นดีระดับหนึ่ง
แต่ทั้งนี้เรามองแก่นของแฟรนไชส์ชุดนี้เป็นหนังไขปริศนา หนังตีความสัญลักษณ์ หนังของคนชอบ puzzle และการค้นหาเรื่องราวอีกด้านหนึ่งที่ประวัติศาสตร์ไม่เคยบอกเรา ซึ่ง Ron Howard ทำแก่นตรงนี้หายไป ทำให้บทดัดแปลงของนิยาย Dan Brown เป็นหนังไล่ล่าธรรมดาที่เดาเรื่องได้ง่าย ไม่น่าติดตาม เดาสัญลักษณ์น้อยลง ใช้ความคิดน้อยลงมาก ชั้นเชิงในการเล่าเรื่องและมิติตัวละครก็น้อยลง เสน่ห์หายไปเรื่อย ๆ ในทุกภาคที่เขาทำ
อย่าว่าแต่แก่นในการตีความสัญลักษณ์หรือไขปริศนาเลย ขนาดธีม Inferno หรือ “นรก” ของกวี Dante หนังยังไปได้ไม่ถึงไหน เหมือนยืมมาตั้งชื่อเรื่องไปงั้น ๆ แปะในหนังพอเป็นพิธี ถ้า Dante รู้เข้า เขาคงทำหน้าเศร้าสลดอย่าง Death Mask ของเขาที่จัดแสดงอยู่ใน Palazzo Vecchio เลยก็เป็นได้
โดยรวม หนังมันก็ไม่ได้แย่หรอก แต่แค่เสียดายที่ทำได้ดีแค่นี้ เสียดายวัตถุดิบที่ดี อย่างธีมของเรื่อง เช่น ประเด็น Overpopulation และนักแสดงคุณภาพทุกเชื้อชาติที่อุตส่าห์มาร่วมเล่น ไม่ว่าจะเป็น Felicity Jones จาก The Theory of Everything, Irrfan Khan จาก Life of Pi, Omar Sy จาก X-Men: Days of Future Past, Sidse Babett Knudsen จาก Borgen, และ Ben Foster จาก Warcraft ฯลฯ
แต่ถ้าใครอยากไปช่วยเป็นกำลังใจให้ Robert Langdon (Tom Hanks) หรือเป็นแฟนนิยายของ Dan Brown ก็ไม่น่าพลาดหนัง Inferno: โลกันตรก ในโรงภาพยนตร์นี้เท่าไหร่นะ เข้าฉาย 10 พ.ย. 2559 นี้ ลองไปดู ๆ
สำหรับเรา คะแนนตามความชอบส่วนตัว เราให้ 6.5/10

41 comments